(เพิ่มเติม) SPCG-MUL-PEA ENCOM-KYOCERA เซ็น MOU ร่วมมือพัฒนาโซลาร์รูฟในไทย วางเป้าติดตั้งพื้นที่รง.อุตฯ 500 MW ใน 2 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 22, 2019 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอสพีซีจี (SPCG), Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) บริษัทการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น , บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ KYOCERA Corporation ,Janpan (KYOCERA) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) เพื่อเพิ่มศักยภาพ และโอกาสการลงทุนด้านธุรกิจโซลาร์รูฟในประเทศไทย

โดยการร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และจัดตั้งบริษัทใหม่ สัดส่วนการถือหุ้น แบ่งเป็น SPCG 35% MUL 35% PEA ENCOM 20% และ KYOCERA 10% ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมกันภายในวันที่ 31 ก.ค.62

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ SPCG กล่าวว่า ภายใต้ MOU ในครั้งนี้ บริษัทมีหน้าที่ในการให้บริการในลักษณะวิศวกรรม จัดการ และก่อสร้าง (EPC) ดูแลและบำรุงรักษา (O&M) การทำธุรกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการดูแล การให้บริการหลังการติดตั้ง ส่วน MUL จะมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำและปรึกษา ทั้งด้านการดำเนินงานและการเงิน รวมถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ จากประสบการณ์ในการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ด้าน PEA ENCOM จะดำเนินการสนับสนุนใบอนุญาตและการอนุญาตที่จำเป็นทั้งหมดแก่โครงการดังกล่าว และ KYOCERA จะสนับสนุนในส่วนของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้คุณภาพมาตรฐานระดับโลก

การดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ตั้งเป้าติดตั้งแผงโซลาร์รูฟ จำนวน 500 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 2 ปี โดย 6 เดือนนี้คาดติดตั้งได้ 50-100 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3-4.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งตั้งเป้าจำนวนลูกค้าดังกล่าวไว้ที่ 1,000 ราย

ทั้งนี้ การติดตั้งแผงโซลาร์รูฟจะช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้เป็นอย่างมาก โดยมองว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 7-8 ปี หรือขึ้นอยู่กับพื้นที่หลังคาว่าจะมีการใช้งานเต็มพื้นที่หรือไม่ หากใช้งานเต็มพื้นที่ก็จะคืนทุนได้เร็วขึ้น และยังมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน

"เราจะเข้าไปบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มติดตั้ง การลงทุนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และการดูแลต่าง ๆ 100% เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า โดยมีอัตราการค่าไฟฟ้า ในรูปแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิ หรือเท่ากับค่าไฟฟ้า ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.80 บาท/หน่วย"นางวันดี กล่าว

นางวันดี กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ คาดว่าจะประกาศแผนการลงทุนได้ในเดือนต.ค.62 เบื้องต้นคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัทราว 3,000 ล้านบาท และคาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปี 65 โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินสดของบริษัทส่วนหนึ่ง และที่เหลือจะมาจากเงินกู้ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิต 66.9 เมกะวัตต์ ในญี่ปุ่น ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Sakura Solar Limited Liability Company โดยมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย Kyocera Corporation, Japan (Kyocera) ถือหุ้น 49% ,Mitsubishi Research Institute, Inc. (MRI) ถือหุ้น 34% และ SPCG ถือหุ้น 17% คาดว่าจะสามารถทยอย COD ได้ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 600 เมกะวัตต์ โดยมีการ COD ในไทยแล้วจำนวน 260 เมกะวัตต์ (ไม่รวมโซลาร์รูฟ) โดยปีนี้ยังคงเป้ารายได้เติบโตที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้น่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ