JSP ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายใน 2-3 ปีแตะ 6 พันลบ.จากปีนี้ 4 พันลบ.เดินหน้ารีแบรนด์-ขยายฐานลูกค้าพรีเมียม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 23, 2019 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสงกรานต์ แสงอร่ามรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาดและการขาย บมจ.เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ (JSP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าธุรกิจใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมียอดขายแตะ 6 พันล้านบาท จากคาดการณ์ยอดขาย 4 พันล้านบาทปีนี้ พร้อมกับการขึ้นเป็น 1 ใน 5 ของผู้พัฒนาอสังหาอสังริมทรัพย์ที่มียอดขายโครงการแนวราบสูงสุด จากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับทีมงานใหม่ภายในเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ในเดือนก.ย.นี้ บริษัทเตรียมรีแบรนด์ JSP ใหม่ ทั้งการเปลี่ยนโลโก้ให้มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น การปรับกลยุทธ์การทำการตลาดที่จะเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ JSP ใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่รู้จักเฉพาะโครงการสำเพ็ง 2 นอกจากนั้นยังจะปรับภาพลักษณ์ของทีมบริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ และการปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการและงานบริการหลังการขายที่สร้างความน่าสนใจที่ช่วยดึงดูดลูกค้า และสร้างความมั่นใจในคุณภาพในโครงการของ JSP ทั้งงานก่อสร้างและงานบริการหลังการขาย โดยวางงบการตลาดเพื่อรีแบรนด์ครั้งนี้ 10-20 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ของการปรับรูปแบบพัฒนาโครงการ เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าโครงการแนวราบระดับพรีเมียม และยกระดับแบรนด์ของ JSP โดยโครงการพรีเมียมจะมีระดับราคา 7-8 ล้านบาท/ยูนิต จากเดิมอยู่ที่ 6 ล้านบาท/ยูนิต อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังคงเน้นพัฒนาโครงการแนวราบระดับราคา 2-3 ล้านบาท/ยูนิตเป็นหลัก เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ พร้อมกับการออกแบบที่ทันสมัยเพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าระบายสต็อกเก่า โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังมีเหลืออีกมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท จาก 2 โครงการที่เหลือขาย ได้แก่ J Condo สาทร-กัลปพฤกษ์ ที่ยังเหลืออีก 600 ยูนิต และโครงการไมอามี บางปู ที่เหลือในส่วนของอาคารที่พัฒนาแล้วอีก 900 ยูนิต ซึ่งบริษัทจะทยอยขายออกไปเพื่อสร้างรายได้นำไปต่อยอดการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ต่อไป โดยคาดว่าโครงการ J Condo สาทร-กัลปพฤกษ์ จะสามารถปิดการขายได้ภายในปี 63

นายสงกรานต์ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัททำยอดขายได้แล้ว 1.1 พันล้านบาท จากการระบายสต็อกทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม พร้อมกับวางแผนการเปิดโครงการแนวราบอีก 8 โครงการในช่วงครึ่งปีหลังไปจนถึงต้นปี 63 ซึ่งบริษัทมีที่ดินรองรับไว้ทั้งหมด มูลค่าโครงการรวมกว่า 6 พันล้านบาท ได้แก่ บ้านแฝด 1 โครงการย่านบางบัวทอง มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท โดยใช้แบรนด์ J Viila ซึ่งจะเปิดขายในช่วงปลายปีนี้

ในช่วงต้นปี 63 จะเปิดโครงการแนวราบ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการย่านบางพระ, โครงการย่านแพรกษา, โครงการย่านบางใหญ่ จำนวน 2 โครงการ, โครงการย่านบางใหญ่แห่งที่ 2, โครงการย่านติวานนท์ และโครงการย่านบางบัวทอง ซึ่งสัดส่วนการพัฒนาจะแบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 60% บ้านเดี่ยว 30% และบ้านแฝด 10% เน้นไปที่ระดับราคา 2-3 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ในสัดส่วน 60%

นอกจากนี้ JSP ตั้งเป้าขึ้นเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาอสังริมทรัพย์ที่มียอดขายโครงการแนวราบใน 5 อันดับแรก ภายในช่วง 2-3 ปี จากยอดขายแนวราบที่ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 6 พันล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท อันดับ 2 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และอันดับ 3-5 อยู่ใกล้เคียงกันที่ 6 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะพยายามก้าวขึ้นไปติดอยู่ 1 ใน 5 ให้ได้ในช่วง 2-3 ปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทจะชะลอการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม หลังความต้องการซื้อลดลงไปมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง แต่บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการไมอามี บางปู ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จก่อน ขณะที่บริษัทวางเป้าจะใช้เงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท/ปีเพื่อซื้อที่ดินใหม่เข้ามาพัฒนาโครงการแนวราบทั้งหมด

นายสงกรานต์ กล่าวว่า บริษัทยังมั่นใจว่ายอดโอนในปีนี้จะทำได้ตามเป้าที่ 4.06 พันล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมียอดโอนแล้ว 2 พันล้านบาท มาจากการขายสต็อกที่เหลืออยู่เป็นส่วนใหญ่ และยังมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ราว 600 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ไปจนถึงปี 63

ด้านนางสาวกนกพร สาณะวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน JSP กล่าวว่า ด้านการวางแผนทางการเงินของบริษัทหลังจากปรับโครงสร้างแล้วนั้น จะเดินหน้าลดต้นทุนและลดภาระดอกเบี้ยจ่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเร่งการขายสินค้าที่เหลืออยู่เพื่อนำเงินกลับมาใช้คืนหนี้และเป็นสภาพคล่อง ส่วนเงินที่ใช้รองรับการลงทุนจะมาจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและกระแสเงินสดของบริษัท อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้บริษัทยังมีแผนการออกหุ้นกู้วงเงิน 1 พันล้านบาท อายุ 3 ปี เพื่อรองรับการซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น การระดมเงินทุนต่อไปก็จะจัดทำเครดิตเรทติ้งสำหรับการออกหุ้นกู้ เพื่อทำให้นักลงทุนมีความสนใจมากขึ้น และมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพื่อทำให้บริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลงด้วย

ปัจจุบัน บริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินกับธนาคารได้ค่อนข้างมาก เพราะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่อยู่ในระดับต่ำที่ 0.6 เท่า จากเดิมที่ 2 เท่า เป็นผลจากการเดินหน้าระบายสินค้าเหลือขายและนำเงินมาใช้คืนหนี้ และยังมีกระแสเงินสดที่เหลืออยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับการลงทุนได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ