SCN พลิกตำรา 5 ปีโต 3 เท่าตัว เพิ่มพอร์ตพลังงานทดแทน ทางรอดยุค NGV เข้าสู่ "Sunset Industry"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 23, 2019 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากนโยบายรัฐบาลในยุคปัจจุบันหันมาส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนส่งผลให้น้ำมันดีเซลถูกลง กำลังสร้างผลกระทบรุนแรงให้กับธุรกิจให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ทั่วประเทศ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันราคากับน้ำมันดีเซล B20 ได้ ทำให้เกิดตั้งข้อสังเกตุว่าธุรกิจเกี่ยวข้องกับ NGV ในไทยจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตะวันตกดิน หรือ Sunset Industry ตามความนิยมผู้บริโภคลดลงไปเรื่อยๆหรือไม่ ??

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้บริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) แบบครบวงจร เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ เปิดมุมมองกับ"อินโฟเควสท์"ว่า นโยบายรัฐบาลเปลี่ยนไปตั้งแต่ 4 ปีก่อนภายหลังเปลี่ยนขั้วผู้บริหารประเทศ โดยประกาศลอยตัวราคา NGV พร้อมกับสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในด้านการขนส่งประเทศ โดยตรึงราคาไม่เกิน 29.99 บาท/ลิตร ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สวนทางกับความต้องการใช้เชื้อเพลิง NGV ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากในช่วง 4 ปีก่อนปริมาณความต้องการใช้ 9 ล้านกิโลกรัม/วัน ลดลงมาเหลือ 6 ล้านกิโลกรัม/วัน และมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ขณะที่สถานีให้บริการ NGV ลดลงมาเหลือ 450 แห่ง จากที่เคยมีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ

ทิศทางดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการ NGV โดยตรง แม้ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ขยายสถานีบริการ NGV เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มี 10 สถานี แต่นับว่ายังมีความโชคดี เพราะมีการกระจายไปในธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ขนส่งก๊าซให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่บริเวณนอกแนวท่อ ซึ่งมียังความต้องการสูงเพราะต้นทุนต่ำกว่าหากเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น

แม้ว่าธุรกิจค้าปลีก NGV และการเปิดสถานีบริการจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปรับงานก่อสร้างสถานีในโรงอุตสาหกรรมแทน สะท้อนได้จากรายได้ของ SCN ที่ยังคงทรงตัวได้ดีเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ธุรกิจก๊าซ NGV มากกว่า 50% และธุรกิจยานยนต์ 40%

"ทุกวันนี้ผู้ประกอบการ NGV มีความลำบาก แต่บริษัทไม่ได้ลดขนาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NGV ลงเพราะที่ผ่านมาเราได้กระจายรายได้ไปยังกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่วันนี้ยังมีความต้องการอยู่มาก ในมุมมองส่วนตัวสำหรับนโยบายไม่สนับสนุน NGV ผมมองเป็นเรื่องการเมือง มากกว่าเหตุผล เพราะรัฐบาลยุคนี้เปลี่ยนมาสนับสนุนเชื้อเพลิงดีเซลแทน NGV ที่เคยเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ คุ้มค่ากับการขนส่งภาคธุรกิจ

แม้จะได้รับกระทบ แต่ผมเองก็ไม่ได้ไปประท้วงหรือเข้าไปคุยกับ ปตท.หรือภาครัฐ มองว่าเราไปทำอย่างอื่นดีกว่า ถ้าในอนาคตรัฐบาลจะกลับมาสนับสนุน NGV บริษัทก็ยังมีธุรกิจ NGV ที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศ ในส่วนว่าใครจะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมไร้อนาคต หรือ Sunset Industry แต่ผมคิดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีด้าน NGV สามารถนำมาต่อยอดเชื้อเพลิงประเภทไฮโดรเจน หรือเรียกว่า Hydrogen Economy ที่เป็นพลังงานสะอาดไม่เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคตผมมองว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในรถไฟฟ้าคือไฮโดรเจน ไม่ใช่จากแบตเตอรี่"

นายฤทธี กล่าวอีกว่า บริษัทเริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ปีก่อน โดยกระจายลงทุนหลายธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบหากอุตสาหกรรม NGV ชะลอตัว ด้วยการมุ่งขยายกิจการเพิ่มเติมอีก 2 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจยานยนต์ และพลังงานทดแทน ที่มีศักยภาพทำกำไรสูง

SCN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 23 ก.พ.58 และราคาหุ้นเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดในเดือน มิ.ย.58 ที่ระดับ 15.50 บาท ก่อนจะปรับตัวลดลงมาปัจจุบันเคลื่อนไหวประมาณ 3 บาทปลายๆ

*วางเป้าแผน 5 ปี ผลงานโต 3 เท่าตัว

สำหรับแผน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 66 โครงสร้างรายได้ 3 ธุรกิจหลักจะเข้ามาใกล้เคียงกัน ได้แก่ ธุรกิจก๊าซ iCNGและNGV ที่ปัจจุบันเป็นฐานรายได้หลักจะเหลือ 30% จากปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 60% ส่วนธุรกิจยานยนต์ 30% ,ธุรกิจพลังงานทดแทน 30% และโลจิสติกส์ 10% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้แนวโน้มรายได้อาจจะไม่ได้เติบโตโดดเด่น แต่แนวโน้มกำไรจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ถ้าการขยายกิจการต่างๆเป็นไปตามแผน คาดว่าภาพรวมผลประกอบการจะสามารถเติบโต 3 เท่าตัว หรือ 300% ภายใน 5 ปีข้างหน้า

*เตรียมสรุปดีลโรงไฟฟ้าลมในเวียดนามเสริมพอร์ตพลังงานทดแทน-หาโอกาสเพิ่มเติมในเมียนมา

นายฤทธี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 โรงใน จ.นครปฐม รวม 6 เมกะวัตต์

และล่าสุด บริษัทได้ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองมินบูในเมียนมา กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ด้วยการเข้าถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 40% ซึ่งเฟสแรก กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ช่วงกลางเดือน ก.ค.ให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน(EPGE) ของรัฐบาลเมียนมา ก่อนจะก่อสร้างเฟสถัดไป 2, 3 และ 4 ให้แล้วเสร็จภายในปี 65 รายได้รวมของโครงการดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

นายฤทธี กล่าวว่า บริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในเมียนมา เพราะเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง ซึ่งขณะนี้กำลังการผลิตไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าจากลม ในประเทศเวียดนาม มูลค่าลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตกว่า 100 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาภายในปีนี้

"โครงการโซลาร์ฟาร์มมินบู ทุกคนมองว่ามีความเสี่ยง แต่เราได้พิจารณารอบคอบในทุกๆด้านแล้ว โดยโซลาร์ฟาร์มมินบูกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ คิดเป็นแค่ 2% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ปัจจุบันเมียนมามีไฟฟ้าใช้เพียง 30% ของความต้องการทั้งหมด ขณะที่โครงการติดกับเมืองหลวงเนปิดอว์ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่ำมากถ้าหากรัฐบาลจะยกเลิกไม่ซื้อไฟฟ้าจากเรา

โครงการพลังงานหมุนเวียนในอาเซียนนอกเหนือจากเมียนมาแล้ว เรากำลังศึกษาในเวียดนาม เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม มีโอกาสลงทุนอีกมหาศาลเพราะล่าสุดเวียดนามได้ประกาศมาสเตอร์แพลนแผนพัฒนาไฟฟ้าในประเทศหลายพันเมกะวัตต์ ที่ผ่านมา SCN เคยเข้าไปทำธุรกิจร่วมกับปิโตรเวียดนามมาแล้ว ทำให้รู้จักและมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยากทำโรงไฟฟ้า เราก็หวังว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษา แหล่งเงินทุนเป็นรูปแบบ Project Finance ถ้าโครงการมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ต้องใช้เงินทุนของตัวเอง 30% หรือ 3 พันล้านบาท ในกรณีที่เราต้องการถือหุ้นใหญ่ก็ต้องลงทุน 1,500 ล้านบาท และที่เหลือเป็นพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนด้วยกัน"

*ลุยประมูลงาน ขสมก.-ศึกษาธุรกิจลิสซิ่งต่อยอดขายรถ"มินิบัส"ชัดเจนปลายปี

จากธุรกิจ NGV ชะลอตัว บริษัทจึงมุ่งเน้นกระจายความเสี่ยง ด้วยการต่อยอดขยายธุรกิจยานยนต์มากขึ้น ปัจจุบันบริษัทเป็นตัวแทนเปิดโชว์รูมโชว์รูมขายรถยนต์มิตซูบิชิ และธุรกิจขายอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซ NGV ให้กับรถยนต์ทุกประเภทให้กับเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ NGV ให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับ บมจ.ช.ทวี (CHO) จำนวน 489 คัน มูลค่ากว่า 1,891 ล้านบาท และทยอยรับรู้รายได้จากสัญญาการดูแลซ่อมบำรุงรักษารถเมล์ NGV มูลค่ากว่า 2,370 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 10 ปี

นายฤทธี กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการของ ขสมก.ที่มีแผนเปิดโครงการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ในอนาคต ประกอบด้วย รถเมล์เช่า 7 ปี จำนวน 700 คัน ได้แก่ รถเมล์ NGV จำนวน 300 คัน และรถเมล์ไฮบริด จำนวน 400 คัน บริษัทได้เจรจากับธนาคารประเทศจีน เพื่อมาสนับสนุนแหล่งทุนในรูปแบบ Project Finance หากราคาประมูลเหมาะสม เชื่อว่าบริษัทมีโอกาสได้รับงานดังกล่าว

บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัท แพนเทอรา มอเตอร์ส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์"มินิบัส"เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำมาทดแทนรถตู้สาธารณะ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ปีนี้ จะมีจำนวนรถตู้ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นรถมินิบัส จำนวนกว่า 20,000 คัน และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต มองว่าธุรกิจดังกล่าวจะช่วยสร้างการเติบโตผลประกอบการในช่วง 5 ปีจากนี้

นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งธุรกิจลิสซิ่ง เพื่อมาสนับสนุนธุรกิจจำหน่ายรถมินิบัส เบื้องต้นจะเป็นลักษณะร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจลิสซิ่งอยู่แล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปลายปีนี้

*กำจัดความเสี่ยงทุกโครงการลงทุน

นายฤทธี กล่าวว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอันดับแรกในการลงทุนแต่ละโครงการ โดยปัจจุบันได้เพิ่มบุคลากรที่มีศักยภาพในการประเมินความเสี่ยงและการขยายกิจการ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ เพราะอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความผิดพลาดด้านสื่อสาร ,นโยบายทางการ และการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นต้น โดยภายหลังได้ข้อมูลจากทีมประเมินความเสี่ยงแล้วก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา โดยคณะกรรมการ SCN ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทั้งด้านบริหารประเทศและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้การลงทุนแต่ละโครงการจึงมีความมั่นใจเรื่องการป้องกันและตอบโจทย์ด้านความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

"ถ้าถามว่าผมเป็นคน Conservative หรือไม่ ต้องบอกว่าผมเป็นคน Conservative ที่สุดในกลุ่มคนที่ Aggressive โดยส่วนตัวผมเป็นคนพร้อมลุยอยู่แล้ว แต่ด้วยประสบการณ์ที่เป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ผมเห็นหลายกรณีศึกษาว่าทำแบบนี้จะมีผลกระทบอย่างไร ทำให้ผม Aggressive น้อยลง แต่จะให้ผมเป็นคน Conservative เลยคงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ใช่คาแรคเตอร์ของผม"

https://youtu.be/8FTu-3MsFJM


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ