บลจ.ยูโอบี ออกกองทุนหุ้นธุรกิจจีนหลังมองตลาดยังโตต่อเนื่องพร้อมเปิดขายครั้งแรก 1-9 ส.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2019 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ออล ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (UCHINARMF) ซึ่งจะกระจายการลงทุนไปยังหุ้นของบริษัทจีนผ่านตลาดหุ้นจีน (Onshore) และตลาดฮ่องกง รวมทั้งหุ้นบริษัทจีนในตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก (Offshore) เปิดเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 1-9 ส.ค.62

กองทุน UCHINARMF เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนในการจัดพอร์ตการลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ เพื่อรองรับภาวะตลาดการลงทุนที่ผันผวนในทุกช่วง ประกอบกับวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระยะยาว โดยเป็นกองทุนเปิดที่มีโครงสร้างและนโยบายการลงทุนเดียวกับกองทุน UCHINA ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ UBS (LUX) Equity SICAV – All China (USD) I-A1-acc (กองทุนหลัก) ที่บริหารจัดการโดย UBS Fund Management (Luxembourg) S.A. โดยกระจายการลงทุนไปยังหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศจีนและฮ่องกง รวมถึงหุ้นของบริษัทจดทะเบียนของประเทศอื่นที่มีการดำเนินธุรกิจในจีนเป็นหลัก

กองทุนหลักมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก มีนโยบายการลงทุนที่ยืดหยุ่น (Dynamic) โดยไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างตลาด Onshore และตลาด Offshore ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-up และผู้จัดการกองทุนหลักมี Track record ที่ดีในการบริหารกองทุนหุ้นจีนอื่นๆ ทั้งกองทุนหุ้นจีนที่ลงทุนในตลาด Onshore และตลาด Offshore ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่ามีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์บริหารกองทุนเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและตอบโจทย์สำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณในระยะยาวได้

กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน กองทุน UCHINA สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการและได้รับเงินค่าขายคืน T+5

นางสาวรัชดา กล่าวว่า บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนตลาดหุ้นจีน ที่มีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากตลาดสินค้าออนไลน์ที่ขยายตัวกว่า 32% ในปี 60 และกว่า 30% ในปี 61 และยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกอย่างมากในอนาคตจากรายได้ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยของการขยายตัวของเมือง (Urbanizing) ที่มีการขยายจำนวนประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ปัจจัยด้าน R&D และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น การเข้าถึงบริการต่างๆสะดวกสบายมากขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคืออายุเฉลี่ยของประชากรจีนที่เพิ่มมากขึ้น (Demographics) ที่สนันสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยคาดว่าตลาด healthcare จะโตกว่า 9.3% ต่อปี ระหว่างปี 60 ถึง 73 (ที่มา : UBS Asset Management, ณ วันที่ 31 พ.ค.62)

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจีนจะเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะจากประเด็นสงครามการค้ากับสหรัฐที่กดดันอย่างหนัก จนส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และรายจ่ายลงทุน (capex) อ่อนตัวลง ซึ่งรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.2% จาก 6.6% ในปี 61 อีกทั้งดัชนีภาคการผลิตของจีนปรับลดลง และภาคการส่งออกยังคงอ่อนตัว แต่รัฐบาลและธนาคารจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในภาคธนาคารหรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงนโยบายการคลังที่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลลักษณะพิเศษ (special local government bonds) โดยเน้นด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่มองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวที่มั่นคงในระยะต่อไป

"มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้บางส่วน"นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ จากการเปิดตัวของกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ออล ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (UCHINA) เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานั้น บลจ. ยูโอบี มองเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวประกอบกับกองทุน UBS (LUX) Equity SICAV – All China (UDS) I-A1-Acc ซึ่งเป็นกองทุนหลัก สามารถสร้างผลการดำเนินงานตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (ณ วันที่ 25 พ.ค. 2561) อยู่ที่ 18.18% ในขณะที่ผลการดำเนินงานของ MSCI All China อยู่ที่ -16.30% ซึ่งกองทุนหลักสามารถทำผลการดำเนินงานได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถึง 34.48% (ที่มา : UBS, Morningstar ณ วันที่ 31 พ.ค.62)

สำหรับกองทุน UCHINA ผลการดำเนินงานตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 4.91% ในขณะที่ผลการดำเนินงานของเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ -2.48% ซึ่งกองทุนทำผลการดำเนินงานได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 7.39% (ที่มา : UOBAM, ณ วันที่ 28 มิ.ย.62)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ