เทรดหุ้นสไตล์ "เสี่ยป๋อง" เคล็ด (ไม่) ลับเอาตัวรอดเมื่อพลาด"ติดดอย"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2019 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป้าหมายสูงสุดของนักลงทุนแทบทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นคาดหวังผลกำไรมหาศาลจากการลงทุน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาบางครั้งกลับไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง สะท้อนได้จากสถิติของนักลงทุนทั่วโลกบ่งชี้ชัดว่าคนเล่นหุ้นกว่า 80% ประสบผลขาดทุน สุดท้ายต้องออกจากตลาดหุ้นไปในที่สุด

"Mindset" หรือกระบวนการทางความคิดที่ดีในการลงทุน นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จสร้างผลตอบแทนที่ดี บรรลุเป้าหมายคือ เอาชนะตลาดหุ้น ซึ่ง"อินโฟเควสท์" มีโอกาสเปิดมุมมองเซียนหุ้นเทคนิครายใหญ่ นายวัชระ แก้วสว่าง หรือ"เสี่ยป๋อง" เกี่ยวกับ "Mindset" ที่นักลงทุนมือใหม่สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดเพื่อก้าวสู่การเป็นนักลงทุนตามสไตล์ของตัวเองได้ในอนาคต

*แนะมือใหม่ "ยึดวินัย" สิ่งสำคัญของ "Full Time Trader"

นายวัชระ เปิดมุมมองกับ"อินโฟเควสท์"ว่า นับตั้งแต่เข้ามาสนามเทรดหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2535 กว่าจะประสบความสำเร็จได้ผ่านประสบการณ์ความผิดพลาดมาหลายครั้ง จึงขอแนะนำนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังสนใจอยากเข้ามาเป็นอาชีพ "Full Time Trader" สิ่งแรกที่ต้องมีคือเรื่องของ "วินัย" การลงทุน ต้องตัดสินใจและคิดทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นก็เปรียบเหมือน "สนามรบ" ทุกคนต้องติดดาบติดอาวุธให้กับตัวเอง ฝึกทักษะให้มีความแข็งแกร่ง โดยต้องยึดหลักว่าไม่มีใครสามารถ "รวย" ได้ด้วยคนอื่น

สำหรับเส้นทางของผู้ที่มีรายได้หลักคืองานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน และต้องการมีรายได้จากการลงทุนเข้ามาเสริม ปัจจุบันมีหลายแนวทางให้เลือกลงทุน โดยผู้ที่สนใจลงทุนระยะยาว ก็ควรศึกษาข้อมูลเชิงพื้นฐานโครงสร้างธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ ควบคู่กับข้อมูลเชิงเทคนิค เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ลดความเสี่ยงขาดทุน

หรือในมุมของผู้ที่ยังกังวลเรื่องความเสี่ยง หรือไม่มีเวลาติดตามอย่างใกล้ชิด แนะนำไปลงทุนกับผู้จัดการกองทุน เพราะทุกวันนี้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญบริหารเงินลงทุนได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากผลตอบแทนกองทุนส่วนใหญ่ที่ชนะผลตอบแทนการปรับขึ้นลงของ SET INDEX

"ถ้าต้องการเป็น Full Time Trader แล้วประสบความสำเร็จ ผมมองว่าต้องจริงจัง และต้องเชื่อว่าต้องทำได้ ยกตัวอย่างนักลงทุนที่เป็นรายใหญ่หลายรายกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็ผ่านอุปสรรคมาทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ เองจริง และเรียนรู้จากความผิดพลาดนำมาปรับใช้ เชื่อว่าสามารถเอาตัวรอดได้ในตลาดหุ้นแน่นอน ทุกวันนี้ผมเองยอมรับว่าก็มีข้อผิดพลาด แต่มองว่าถ้าผิดแล้วก็เป็นครู ขอให้เราชนะมากกว่าแพ้เท่านั้นก็พอ"

*ประสบการณ์ "ติดดอย" กราฟเสียต้อง"ขาย"

เสี่ยป๋อง เล่าว่า จากการประสบการณ์ลงทุนสิ่งที่กลัวมากที่สุดคือการ "ติดดอย" ที่ผ่านมาได้เรียนรู้เรื่องกราฟเทคนิคมาประกอบการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ตราบใดถ้ากราฟเสียทรง ก็ต้องตัดสินใจขาย

"ถ้ากราฟเสีย ผมไม่สนเลย เพราะกลัวมากกับการติดดอย ผมเคยติดดอยตอนปี 2537 ช่วงดัชนีขึ้นไป 1,700 จุด ใช้เวลารอมา 24 ปี ผมคิดว่าถ้ากลัวติดดอยต้องเรียนรู้กราฟ แม้ว่ากราฟจะไม่ได้ช่วยเราได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถบอกตำแหน่งที่เราอยู่ได้ว่าราคาที่ซื้อไว้อยู่ตรงไหนของยอดภูเขา"

เสี่ยป๋อง บอกแนวทางว่า โดยส่วนตัวแล้วสำหรับหลักคิดในการขายตัดขาดทุน (Cut Loss) ไม่มีความแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้าแนะนำในมุมของนักลงทุนระยะกลาง-ยาว หลักพื้นฐานคือให้วิเคราะห์กราฟเทคนิคถ้ากราฟหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์ก็ควรขายหรือหนีออกมาตัดสินใจก่อน ในกรณีเร็วกว่านั้นใช้เส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน หากไม่หลุดระดับดังกล่าวยังไม่ต้องขาย แต่ก็ควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐานประกอบการตัดสินใจด้วย

เสี่ยป๋อง ย้ำว่า แนวทางการ Cut Loss เป็นแค่เพียงแนวทางเชิงปฎิบัติเท่านั้น ขึ้นอยู่นักลงทุนแต่ละคนว่าจะนำไปต่อยอดหรือปฎิบัติใช้อย่างไร

*เตือนใช้"Block Trade"อย่างระมัดระวัง

กระแสความนิยมของนักลงทุนหันมาใช้เครื่องมือ Block Trade เพื่อช่วยเพิ่มอำนาจผลตอบแทนหลายเท่าตัวนั้น เสี่ยป๋อง มองว่า แนวทางการ Cut Loss ไม่ควรใช้ Pattern เดียวกับการลงทุนแบบปกติ เพราะหากใช้เครื่องมือ Block Trade ผู้ลงทุนต้องอาศัยการซื้อขายรวดเร็วมากๆ โดยส่วนตัวมองว่าค่อนข้างมีความเสี่ยง ขณะเดียวกันเครื่องมือ Block Trade ยังเป็นการสร้างซัพพลายและดีมานด์เทียมในตลาดหุ้น

"สำหรับผู้ที่ใช้ Block Trade ถ้าถูกทางก็ดีไป แต่ถ้าผิดทางผมว่าน่าสงสาร เพราะถ้าขาดทุนทำได้อย่างเดียวคือทำใจ ปรับตัวกลับมาได้ แต่ก็ทรมาน จึงอยากฝากไว้ว่าการลงทุนทุกครั้งอย่าประมาณ ยึดหลักวินัยเป็นสำคัญ ตราบใดที่เราสามารถค้นพบวิธีเทรดเป็นของเราได้แล้ว ก็จงใช้มันอย่างรัดกุม นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการฟังคนอื่น แต่เกิดจากการคิดและลงมือทำด้วยตัวเองทั้งนั้น"

https://youtu.be/Zv0jsxjd5rs


แท็ก ตลาดหุ้น   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ