UMS ศึกษาร่วมทุนทำเหมืองถ่านหินในอินโดฯ ลดความเสี่ยงซัพพลายขาดแคลน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 14, 2008 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แหล่งข่าว บมจ. ยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนการร่วมทุนทำเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ถ่านหินในตลาดโลกเกิดภาวะขาดแคลน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะบรรลุข้อตกลงได้เมื่อใด
"ที่ผ่านมาเรานำเข้าถ่านหินจากจีน ออสเตรเลีย อินโดฯมาตลอด แต่เนื่องจากในบางช่วงถ่านหินขาดตลาด เช่น จีนงดส่งออก ออสเตรเลียเกิดน้ำท่วม ถามว่าจะร่วมทุนกับเจ้าที่เรานำเข้าอยู่หรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยถ้าจะร่วมทุนเราก็ต้องเอาของเขามาขายก่อนนั่นแหละ...ถ้าจะพูดกันจริงๆ ก็คงเป็นรายที่เราซื้อของจากเขาอยู่แล้ว"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาซัพพลายถ่านหินในตลาดโลกทำให้ราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ โดยคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึง 140-150 เหรียญ/ตัน จากปัจจุบันที่ขึ้นมาถึง 120 เหรียญ/ตันแล้ว ซึ่งบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาจำหน่ายได้ตามสถานการณ์ ส่วนใหญ่ลูกค้าก็เข้าใจเหตุผลดี
สำหรับการร่วมทุนพันธมิตรจากประเทศเยอรมัน ตั้งบริษัททำธุรกิจบำบัดขยะชุมชน ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ให้กับธุรกิจ บริการของบริษัทที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 2% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้หลักประมาณ 98% คือธุรกิจขายถ่านหินให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ
รูปแบบของธุรกิจบำบัดขยะชุมชน จะเป็นลักษณะของการเข้าไปรับกำจัดขยะในแหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งบ่อขยะขนาดใหญ่ เช่น บ่อขยะอ่อนนุช และโรงงานกำจัดขยะหนองแขม ซึ่งแต่ละที่มีปริมาณขยะมากมายหลายร้อยตันต่อวัน ส่วนอัตราค่าบริการ อาจจะอยู่ราวๆ 300 บาทต่อวัน ต้องแล้วแต่เทศบาลของแต่ละแห่งว่าจะมีเงื่อนไขในการใช้บริการอย่างไร คาดว่าจะเริ่มให้การบริการได้หลังไตรมาส 1 ปี 51 ไปแล้ว โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและเตรียมการ
"ถ้าจำไม่ผิดขยะในประเทศไทย เยอะมาก ประมาณ 4 หมื่นตันต่อวัน ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้ในแหล่งชุมชนอย่างเดียว ยิ่งนานวันเข้าปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่มีที่ให้กอง เมื่อขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งกลิ่นรบกวน และนำมาซึ่งเชื้อโรคต่างๆ ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย จึงคิดว่าเราน่าจะทำธุรกิจบำบัดขยะให้ถูกต้องเหมือนในต่างประเทศ ส่วนขยะที่ถูกบำบัดแล้ว อนาคตก็อาจจะถูกนำมาแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงได้ในอนาคต"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทร่วมทุน จะมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จะเริ่มต้นนำเข้ารถบดขยะจากเยอรมันก่อน 1 คัน ซึ่งสามารถบดขยะในช่วงแรก 50 ตันต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 500 ตันต่อวันในอนาคต และหากธุรกิจไปได้ดี ก็อาจจะมีการเพิ่มทุนบริษัทร่วมทุนและนำเข้ารถบดขยะเพิ่ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ