FSMART ชูแผน H2/62 เพิ่มบริการหนุนศักยภาพตู้"บุญเติม"หนีการแข่งขัน พร้อมต่อยอด EV Charger Station เริ่ม Q4/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 9, 2019 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้นำช่องทางการจำหน่ายผ่านตู้อัจฉริยะ"บุญเติม" เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 62 บริษัทจะพยายามเพิ่มศักยภาพให้ตู้บุญเติม และวางเป้าหมายใหม่ให้ "บุญเติม" เป็นช่องทาง (Channel) ในการส่งมอบสินค้าและบริการผ่านตู้อัจฉริยะ-บุญเติมบนจุดแข็งที่มีทำเลกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกเหนือจากเป็นช่องทางบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ในตลาดตู้เติมเงินออนไลน์เช่นที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการให้กับลูกค้าปัจจุบัน รวมทั้งสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ที่จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

โดยในส่วนของตู้อัจฉริยะบุญเติมบริษัทจะพยายามหาบริการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งการเพิ่มบริการรับฝากเงินสด/โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารอีก 1 แห่ง จากปัจจุบัน 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารออมสิน ตลอดจนการซื้อเพลงจากค่ายแกรมมี่ทั้งเพลงไทยและเพลงลูกทุ่ง การซื้อประกันภัย-ประกันชีวิตทุกประเภท รวมถึงการซื้อสลากออมสิน และชุดสลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

นอกจากนี้ จะขยายธุรกิจต่อยอดและธุรกิจใหม่ อาทิ การขยายจุดติดตั้งตู้จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือและบริการพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกค่ายมือถือ เช่นเดียวกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่ถือหุ้นอยู่ 10% และบริษัทรับบริหารจัดการระบบ อีกทั้งมีบริการต่างๆ ของบุญเติมที่อยู่บนตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ขยายตู้จำหน่ายน้ำกระป๋องไปแล้วกว่า 2,200 จุด และจะเพิ่มตู้จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป และตู้กาแฟสด โดยในสิ้นปีนี้จะเพิ่มจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็น 4,000 ตู้ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อที่ประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อยส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะนี้ยังรอใบอนุญาตการให้บริการสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินปลายปีนี้

บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาตู้อัจฉริยะบุญเติมอื่น ๆ เพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อผู้ใช้งาน เช่น ตู้บริการชาร์จรถยนต์ และเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger Station) ที่จะเริ่มเปิดให้บริการเริ่มต้นที่ 10 สถานีแรกในเขตกรุงเทพมหานครได้ไตรมาส 4/2562 ร่วมถึงตู้รับฝากพัสดุ (Boonterm Post) ที่อยู่ในระหว่างการทำความร่วมมือกับบริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2563 เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 1,603 ล้านบาท ลดลง 5.2% และกำไรสุทธิ 295 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 61 ที่มีรายได้ 1,691 ล้านบาท และกำไร 295 ล้านบาท โดยมียอดเติมเงินรวม 20,767 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 บริษัทมีรายได้รวม 804 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 145 ล้านบาท ลดลง 5.3% และ 3.4% ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันปี 2561 ที่มีรายได้ 849 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท

ทั้งนี้ การแข่งขันในอุตสาหกรรมตู้เติมเงินออนไลน์ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงต้นปีอุตสาหกรรมการเติมเงินมือถือจะชะลอตัวลง แต่ธุรกิจตู้เติมเงินยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการอยู่เสมอ ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้การเติมเงินมือถือชะลอตัวลงตามอุตสาหกรรม แต่การใช้งานในบริการอื่นๆยังเพิ่มขึ้น เช่น Data package และการเติมเงินเข้า e-wallet ที่มีการเติบโตมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการโอนเงินที่ปัจจุบันเฉลี่ย 31,813 รายการต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

"บริษัทได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ด้วยการเพิ่มบริการหน้าตู้บุญเติมให้ครอบคลุม รวมถึงการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการผ่านตู้บุญเติมมากขึ้น ซึ่งในไตรมาส 2 เองได้เปิดให้บริการตู้ขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือและบริการพิสูจน์ตัวตน (Selling SIM Card with e-KYC) ที่เริ่มติดตั้งไปแล้วกว่า 100 จุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีรายได้จากตู้ขายซิมการ์ดของเครือข่ายต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาเสริมรายได้อย่างแน่นอน" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ