THAI ลุ้น H2/62 ขาดทุนลดลงหรืออาจเห็นกำไรหลังเร่งปรับกลยุทธ์สู้บาทแข็ง-นักท่องเที่ยวหดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2019 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังผลประกอบการน่าจะขาดทุนลดลง หรือ พลิกกลับมามีกำไร หลังจากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุน 6.4 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะการปรับกลยุทธ์ และลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้ระดับหนึ่ง ประกอบกับคาดว่าจะได้รับผลดีจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในไตรมาส 4/62 ด้วย

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกขาดทุนมาก โดยเฉพาะไตรมาส 2/62 ขาดทุนมากขึ้นเป็น 6.88 พันล้านบาท จากไตรมาส 2/61 ที่มีผลขาดทุน 3.1 พันล้านบาท เนื่องจากได้รัลผลกระทบเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง 5% เพราะบริษัทมีรายได้หลักจากต่างประเทศถึง 95% ส่วน 5% เป็นรายได้จากในประเทศ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในรูปเงินดอลลาร์ต่ำลงแต่ก็ไม่สามารถช่วยชดเชยได้ อีกทั้งจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้บริษัทต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

รวมทั้งกำลังการผลิตลดลงจากจำนวนเครื่องบินลดลง โดยบริษัทมีฝูงบิน 82 ลำ แต่นำไปใช้บินได้ 69-70 ลำ เนื่องจากเครื่องบิน 12 ลำต้องจอดรอซ่อมบำรุงตามรอบ และบางลำต้องเข้าซ่อมเครื่องยนต์ที่ใช้เวลานานถึง 50 วัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินที่รอขายอีก 4 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 340-500 จำนวน 1 ลำ ,แอร์บัส เอ 300-600 จำนวน 1 ลำ และ โบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ปรับลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน หลังจากเงินหยวนอ่อนค่า

อีกทั้งจากที่อินเดียและปากีสถานมีข้อพิพาท จนนำมาสู่การปิดน่านฟ้าของปากีสถาน ทำให้บริษัทต้องปิดเข้าจุดบินในปากีสถาน 3 เมือง และภายหลังแม้ว่าจะเปิดบินได้ แต่ต้องบินอ้อม ทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น

"เงินบาทแข็งค่ารุนแรง เราไม่คิดว่าจะแข็งขนาดนี้ แข็งมากในรอบ 6-7 ปี ค่าเงินแข็งเป็นสาระสำคัญ เพราะมีรายได้จากนอกประเทศเป็นหลัก พอเงินบาทแข็งค่ามากก็กระทบทันที สถานการณ์ในไตรมาส 2 เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของสายการบิน เราไม่คิดว่าจะขาดทุนมากขนาดนี้ เราไม่คิดว่ามันแย่ขนาดนี้ แต่เราไม่ยอมแพ้ เราจะเอามันกลับมา...ผมยังมีความเชื่อมั่นว่าจะกลับมาเป็นบวก ถ้าทำได้ 3 อย่าง แต่ยังไม่บอก เรากำลังทำอยู่"นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ เชื่อว่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะอ่อนค่าลงได้บ้างจากนโยบายรัฐบาล ขณะที่บริษัทเองก็ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ระดับหนึ่ง ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตนั้น บริษัทจะเช่าเครื่องบินเพิ่มจำนวน 3 ลำเพื่อรองรับเส้นทางยุโรป อาทิ บรัสเซล เวียนนา มิลาน เป็นต้น ระยะเวลาประมาณ 6 ปี คาดจะสามารถนำเครื่องมาใช้ในไตรมาส 4/62 หรืออย่างช้าในไตรมาส 1/63 ซึ่งการตัดสินใจเลื่อนการเช่ามาจากช่วงต้นปี 62 ทำให้บริษัทได้ราคาเช่าลดลง 10-20%

พร้อมกันนั้น บริษัทจะหาจุดบินใหม่ ได้แก่ เมืองแมนเชสเตอร์ ในอังกฤษ ส่วนในไตรมาส 4/62 จะเปิดทำการบิน กรุงเทพ-เซนไดของญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีคู่แข่งเป็นสายการบินจากประเทศไทย ทั้งนี้เส้นทางบินไปยังญี่ปุ่นคิดเป็นรายได้ 1 ใน 3 ของการบินไทย ดังนั้น การเปิดจุดบินใหม่ไปยังเซนไดเป็นเมืองที่ 6 ในญี่ปุ่นคาดหวังจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท

ส่วนแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 1.56 แสนล้านบาทนั้น นายสุเมธ กล่าวว่า บริษัทรอเรื่องกลับจากกระทรวงคมนาคม หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เพื่อปรับข้อมูลเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อนเสนอไปให้กับกระทรวงคมนาคมและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยไม่ต่องผ่านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ