ทริสฯ ลดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ KSL เป็น "A-" จาก "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2019 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เป็นระดับ "A-" จากเดิมที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย และความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศกัมพูชา

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานอ่อนตัวกว่าคาด ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีบัญชี 2561 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง กล่าวคือ ราคาน้ำตาลที่ลดลงอย่างมากจากผลผลิตส่วนเกินของอ้อยทั่วโลกส่งผลทำให้กำไรของบริษัทลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 13.8% ในปีบัญชี 2561 เมื่อเทียบกับระดับ 10.5% ในปีบัญชี 2560 แต่ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 17.8% ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 2.89 พันล้านบาทในปีบัญชี 2561 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 3.4 พันล้านบาท

ในปีบัญชี 2563 การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลก ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยด้านลบต่อราคาน้ำตาลทั่วโลกอยู่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าวัฏจักรขาลงในอุตสาหกรรมน้ำตาลจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปีบัญชี 2563 เป็นต้นไปหลังจากราคาน้ำตาลที่ตกต่ำในช่วง 3 ปีช่วยทำให้ปริมาณการผลิตอ้อยและน้ำตาลส่วนเกินลดลง มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายจะอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 14.0-16.0 เซนต์ต่อปอนด์เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 6 เดือนในปีบัญชี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวโดยลำดับมาอยู่ที่ระดับ 15%-16% ในปีบัญชี 2562-2565

โรงงานน้ำตาลในต่างประเทศยังคงฉุดรั้งผลการดำเนินงาน บริษัทดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลใน (สปป. ลาว) และประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ปีบัญชี 2553 โดยมีเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.6 พันล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2561 และมีการด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 1.4 พันล้านบาท ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีของเงินลงทุนของบริษัทย่อยในทั้ง 2 ประเทศจึงลดลงเหลือเท่ากับ 200 ล้านบาท ในการนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจาก สปป. ลาว และกัมพูชาน้อยกว่า 5% ของรายได้รวม

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศกัมพูชาอยู่ระหว่างขั้นตอนการขายเงินลงทุน ส่วนปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ใน สปป. ลาว นั้นก็ยังคงต่ำกว่าจุดคุ้มทุนในปีการผลิต 2561/2562 บริษัทย่อยในประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงอย่างมากและยังคงรายงานผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 21 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีบัญชี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินธุรกิจน้ำตาลใน สปป. ลาว และกัมพูชาของบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของปริมาณอ้อยและราคาน้ำตาล รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการน้ำตาลและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น

ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น ภาระหนี้รวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.36 หมื่นล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2561 จาก 2.18 หมื่นล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2560 ระยะเวลาเก็บสินค้าคงเหลือของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 97 วันในปีบัญชี 2561 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 77 วันในช่วงปีบัญชี 2559-2560 สาเหตุมาจากการมีสินค้าคงเหลือจากสัญญาขายน้ำตาลที่ยังไม่ได้ส่งมอบที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2560/2561 ดังนั้น บริษัทจึงยังคงมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้น

ในทางตรงกันข้าม แผนการลงทุนของบริษัทมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 400-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2565 โดยบริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปในการขยายกำลังการผลิตและซ่อมบำรุงประจำปี ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับระดับ 60.9% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 และระดับ 55.9% ในช่วงปีบัญชี 2561 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทนั้นคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 3-4 เท่าในช่วงปีบัญชี 2562-2565

มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีผลงานที่ยาวนานในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของผลผลิตน้ำตาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 โดยมีสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 7%-8% คณะผู้บริหารของบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำตาลมายาวนานมากกว่า 70 ปี ลูกค้าหลักของบริษัท ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของบริการและคุณภาพของสินค้าเนื่องจากสินค้าของลูกค้าเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการเฉพาะ ดังนั้น บริษัทจึงสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาสูงได้ตามคุณภาพของสินค้าที่ผลิต

การขยายกิจการไปยังธุรกิจปลายน้ำ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของบริษัทส่วนใหญ่เกิดจากการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอด ผลพลอยได้ส่วนใหญ่คือชานอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล บริษัทนำชานอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงงานไฟฟ้า ส่วนกากหม้อกรองนั้นนำมาใช้ผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการปลูกอ้อย ในขณะที่กากน้ำตาลนำมาใช้ผลิตเอทานอล ธุรกิจปลายน้ำของบริษัทประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจเอทานอล และธุรกิจปุ๋ย อนึ่ง บริษัทได้เริ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว

รายได้จากธุรกิจพลังงานและธุรกิจปุ๋ยคิดเป็นประมาณ 7%-10% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนของบริษัทในการผลิตเอทานอลนั้นเป็นการดำเนินงานผ่านการถือหุ้นในสัดส่วน 40% ใน บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทบีบีจีไอปีละประมาณ 90-120 ล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2562-2565

มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7-3.0 พันล้านบาทในปีบัญชี 2562-2565 ตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของราคาน้ำตาล นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายยังจะจ่ายเงินให้แก่บริษัทอีกประมาณ 300-350 ล้านบาทต่อปีเพื่อเป็นค่าตอบแทนการผลิตน้ำตาลจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนเมษายน 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 134 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่จำนวน 1.57 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอยู่ที่ 0.9-4.9 พันล้านบาทต่อปีในปีบัญชี 2562-2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้รวมของบริษัทจะลดลง 5%-8% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว ๆ 6%-9% ต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2564-2565

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20% ต่อปีและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2562-2565

ค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 900 ล้านบาทในปีบัญชี 2562 และ 400 ล้านบาทในระหว่างปีบัญชี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้ได้ ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยและรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนในธุรกิจผลิตน้ำตาลให้แก่บริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวอย่างมั่นคงเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้งบการเงินและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ