วิเคราะห์ Big Deal "ตลาดหุ้นฮ่องกง"ยื่นข้อเสนอก้อนโตซื้อ"ตลาดหุ้นลอนดอน"ผ่านมุมมองนายกสมาคมโบรกฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 12, 2019 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ลือลั่นวงการตลาดหุ้นโลกหลังจากฮ่องกง เอ็กซ์เชนจ์ แอนด์ เคลียริ่ง ลิมิเต็ด (HKEX) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการตลาดหุ้นฮ่องกง ประกาศยื่นข้อเสนอซื้อกิจการตลาดหุ้นลอนดอนในราคาเกือบ 32,000 ปอนด์ (1.209 ล้านล้านบาท) โดยตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งมีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงหนี้สินมูลค่า 2,000 ล้านปอนด์

แต่ดีลนี้มีเงื่อนไขว่า ลอนดอน สต็อก เอ็กซ์เชนจ์ กรุ๊ป (LSEG) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการตลาดหุ้นลอนดอน จะต้องยกเลิกข้อเสนอในการซื้อกิจการบริษัท Refinitiv ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินของสหรัฐ วงเงิน 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ โดย LSEG ระบุว่าจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว แต่ย้ำว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะซื้อ Refinitiv

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ตลาดหุ้นฮ่องกงมีขนาดใหญ่ ได้รับความสนใจติดอันดันต้นๆของโลก ถ้าตัดประเด็นปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบของประชาชนในเกาะฮ่องกงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับภาพรวมเศรษฐกิจ เชื่อว่ายุทธศาสตร์ของตลาดหุ้นฮ่องกงต้องการเพิ่มความหลากหลายสินค้าในตลาดทุนและปริมาณซื้อขายให้เกิดความเชื่อมโยงกันข้ามทวีป

แต่ด้วยปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ดีลดังกล่าวเกิดเร็วขึ้น เพราะสถานการณ์ของฮ่องกงช่วงนี้มีความจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพในการเป็นศูนย์การเงินที่มีความมั่นคงมายาวนาน และตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นศูนย์รวมของนักลงทุนใหญ่อันดับต้นๆของโลก ดังนั้น หนึ่งในทางออกก็คือการเข้าไปเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นอื่นที่มีโอกาสและมีความมั่นคงในระดับที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่า จึงมองตลาดหุ้นลอนดอนเป็นเป้าหมาย

สำหรับมุมมองการแข่งขันตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย หากตลาดหุ้นฮ่องกงสามารถควบรวมกับตลาดหุ้นลอนดอนได้สำเร็จ แรงกดดันจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อาทิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น, เกาหลี และ ไต้หวัน ส่วนคู่แข่งสำคัญอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันมีความพยายามยกระดับขึ้นเป็น Stock Exchange Gateway ด้วยการเพิ่มปริมาณซื้อขายในตลาดฯมากขึ้น แต่ด้วยประเทศสิงคโปร์มีขนาดเล็ก และมีสินค้าในตลาดทุนไม่มาก จึงสร้างแรงกดดันการยกระดับ

นางภัทธีรา กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยมองว่าแทบจะไม่มี เนื่องจากสินค้าของไทยเข้าไปเทรดในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นลอนดอนยังมีปริมาณไม่มาก แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะในด้านการเชื่อมโยงในสินค้าในตลาดทุนของไทยสามารถขยายฐานผู้ลงทุนในตลาดหุ้นลอนดอนผ่านกลไกของตลาดหุ้นฮ่องกงในอนาคต

นอกจากนี้ ตลาดทุนไทยพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกมิติแล้ว ทั้งในส่วนระดับตัวกลางอย่างบริษัทหลักทรัพย์ ,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังคงพัฒนาต่อเนื่องสะท้อนจากปริมาณซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เทรดดิ้งเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตลอดหลายปี ดังนั้นจึงมองว่าเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีในตลาดทุนไทยพัฒนามาไกลแล้ว ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่ยากคือการพัฒนาสินค้าที่ดีอย่างไรให้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นไทยให้มากขึ้นกว่านี้ในอนาคต

"ประโยชน์ที่ตลาดหุ้นไทยจะได้รับจากการที่ตลาดหุ้นฮ่องกงควบรวมกับตลาดหุ้นลอนดอนคือจะช่วยให้เราเชื่อมโยงกับระดับโลกได้ดีขึ้น แต่ตลาดหุ้นไทยมีจุดขายคือการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่ย่อยลงมา มีศักยภาพการเติบโตเยอะนั้นคือกลุ่ม CLMVT ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเราก็ยังมุ่งเป้าไปตรงนี้มากกว่าที่จะขยายออกไปในระดับระดับโลก ซึ่งความโดดเด่นของตลาดหุ้นไทยคือบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่มีศักยภาพที่ดี ,เติบโตสม่ำเสมอ ,และมี Environmental, Social, and Governance (ESG) เป็นจุดดึงดูดความสนใจในสายตากลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนั้นยังมีพัฒนาการเชิงลึก เช่น สินค้าอนุพันธ์ประเภทต่างๆ แต่ความยากคือแต่ละประเทศยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรถึงจะเข้าไปช่วยให้ประเทศเหล่านั้นเข้าถึงแหล่งทุนได้การเชื่อมโยงระหว่างกันและขยายฐานนักลงทุน"นางภัทธีรา กล่าว

นายบุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Capital Markets in 2030 ที่ทำการสำรวจโดย The Economist Intelligence Unit ในนามของ PwC คาดว่า ตลาดหลักทรัพย์ในโลกที่นักลงทุนสนใจพิจารณาลงทุนมากที่สุดในปี 2573 นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตนเอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange : NYSE) ที่ 37% ตามมาด้วยตลาดหุ้นแนสแด็ก (National Association of Securities Dealers Automated Quotations : NASDAQ) ที่ 26% ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange : LSE) ที่ 24% และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange : HKEX) ที่ 24% เท่ากัน

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวนเกือบ 400 รายทั่วโลกเกี่ยวกับมุมมองต่อปัจจัยที่สะท้อนถึงการพัฒนาตลาดทุนทั่วโลก ต่อเนื่องจากรายงานที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2554 โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ยังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากคราวก่อนที่ผู้ถูกสำรวจคาดว่า ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange : SSE) จะเป็นแชมป์ตลาดหุ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปี 68 ตามมาด้วย ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ตลาดหลักทรัพย์อินเดีย และ ตลาดหลักทรัพย์บราซิล (Sao Paulo Stock Exchange : Bovespa)

https://youtu.be/drNxjRZ0Meg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ