BAM พร้อมขายหุ้น IPO 1,765 ล้านหุ้น ชูจุดเด่นบริหารสินทรัพย์ใหญ่สุด -เข้าซื้อ NPL-NPA ใส่พอร์ตเพิ่ม 1 หมื่นลบ./ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 4, 2019 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า ช่วงเวลาในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยังคงต้องรอการพิจารณและอนุมัติไฟลิ่งจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากบริษัทได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 62 โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนรวมกันไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น (รวมหุ้นจัดสรรส่วนเกิน) มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA)ในอนาคต ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

จุดเด่นของ BAM คือการที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 1.07 แสนล้านบาท แบ่งเป็น NPL กว่า 7 พันล้านบาท และ NPA กว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าสินทรัพย์ของ BAM ถือว่าสูงที่สุดในอุตสาหกรรม และส่วนแบ่งตลาด (Market share) สูงที่ 47.3% ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับปัจจัยบวกทั้งในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นและเศรษฐกิจขาลง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นจะได้ประโยชน์ในแง่ของความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อที่เติบโตขึ้น ส่งผลดีต่อราคาขาย NPA ของบริษัท แต่หากภาวะเศรษฐกิจขาลงบริษัทก็เป็นโอกาสที่สามารถเข้าซื้อ NPL และ NPA ในราคาที่ถูกลง และมีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ความน่าสนใจของ BAM ยังอยู่ที่อัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลที่บริษัทตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยการจ่ายเงินปันผลในปี 61 บริษัทได้จ่ายในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นสิ่งสามารถบอกได้ว่าการลงทุนใน BAM นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดี

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่รายได้มีการเติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี และกำไรสุทธิในปี 61 เพิ่มขึ้นมาแตะ 5.2 พันล้านบาทได้ จากปี 60 ที่ 4.5 พันล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 7% ต่อปี และบริษัทยังมีแผนการซื้อ NPL และ NPA ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งโครงสร้างและฐานะทางการเงินของบริษัทยังมีความแข็งแกร่งที่สามารถรองรับการซื้อหนี้และสินทรัพย์ขายทอดตลาดเข้ามาเพิ่ม โดยที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำที่ 1.4 เท่า และยังมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่สูงมากเฉลี่ย 3% และมีหุ้นกู้ความสามารถในการออกหุ้นกู้ได้ และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จขไม่ส่งผลกระทบต่อการเครดิตเรตติ้งของบริษัทแต่อย่างใด ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจถึงฐานทางการเงินของบริษัทที่มีความแข็งแกร็ง

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าบริษัทจะเริ่มเดินสายโรดโชว์พบนักลงทุนในต่างประเทศในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักลงทุน Cornerstone

ขณะเดียวกัน BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์เพื่อเติบโตในอนาคตและเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPL และ NPA อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น โดย BAM จะให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ

และยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร โดยเชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน

นายทินพันธ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทได้การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาหุ้นหากภาวะตลาดมีความผันผวน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ราคาหุ้นของ BAM ไม่ให้ได้รับผลกระทบ และมองว่าความน่าสนใจของ BAM ยังเป็นเรื่องการเติบโตของผลการดำเนิน และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในอุตสาหกรรมที่ BAM เป็นผู้นำในตลาด ประกอบกับในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนที่ให้ปันผลในอัตราสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ