บลจ.ยูโอบี เผย AUM ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้โตมากกว่าตลาดรวม ,มอง SET แกว่ง 1,550-1,700 จุด ก่อนขึ้นแตะ 1,750 จุดปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 4, 2019 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) หรือ UOBAM เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโต 16.6% จาก 210 แสนล้านบาท เป็น 245 แสนล้านบาท ณ 30 ส.ค.62 มากกว่าภาพรวมตลาดในช่วงเดียวกันที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 4% ส่วนมูลค่า AUM เฉพาะช่วง 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.62) มีอัตราเติบโต 9% ปัจจัยมาจากการเติบโตของ Institutional Mandate (ลูกค้าสถาบัน) ทั้งภาครัฐและเอกชน ในกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ที่มีมูลค่า AUM เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท (ณ 30 ส.ค. 62)

ประกอบกับนับจากเดือนพ.ค.-ส.ค. ได้เสนอขายกองทุนรวมใหม่อีก 5 กองทุน เพื่อตอบโจทย์กับสภาวะตลาดการลงทุนปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมกันนี้บริษัทยังได้จัดสัมมนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งภาพรวมสถาวะตลาด การลงทุนในปัจจุบันและแนวโน้ม ในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Distributor)"

ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบีฯ มีมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่ายังคงสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลาง และมีแนวโน้มที่ขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากภาวะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ตลาดทุนมีความผันผวนสูงขึ้น โดยธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการเจรจาการค้า ประกอบกับมีความกังวลว่าต่อการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงไปต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น จึงเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ปี 62 ลดลงเหลือ 2.8% หลังจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

บลจ.ยูโอบีฯ ยังคงนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนจากเครือข่ายในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน ขณะเดียวกันได้นำนโยบายธรรมาภิบาลมาใช้ในกระบวนการลงทุน โดยมุ่งเน้นบริหารจัดการลงทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และนำปัจจัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน

นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยเข้าร่วมโครงการ NDID (National Digital ID) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาให้บริการช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการเปิดบัญชี และเพื่อตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ‘e-account opening application’ เพื่อให้บริการทางออนไลน์ ที่จะช่วยให้การเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นและเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้า

นายวนา กล่าวอีกว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,550-1,700 จุด บนระดับ P/E ที่ 15-16 เท่า โดยกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงปีก่อน หรืออาจจะลดลง 1-2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโต จากผลกระทบสงครามทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลง และการบริโภคยังคงไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามนโยบายการตุ้นเศรษฐกิจในประเทศว่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใดในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 1% โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ในปีนี้ และจะลดลงอีก 1 ครั้งในปี 63 ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในทิศทางขาลง

"แม้ว่าภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยจะไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามการจะปรับลดลงมาก ๆ นั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอัตราส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเหลือไม่มากแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเองก็อยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นไปได้ยากที่จะย้ายการลงทุนไปยังที่ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า"นายวนา กล่าว

นายวนา กล่าวอีกว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 63 คาดว่าจะปรับขึ้นไปในระดับ 1,750 จุด บนคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโต 8-10% และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับ 3.7% รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังปีนี้ที่การเบิกจ่ายงบประมาณออกมาล่าช้ากว่าที่คาดไว้ และการบริโภคที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว

ด้านนางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปี 63 ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนทั่วโลก ประกอบกับผลประกอบการในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นมีการประเมินมูลค่า (Valuation) สูงขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานได้ ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (Fixed Income) แม้ว่าจะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูง อย่างไรก็ตามจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง จึงมีโอกาสจะได้รับกำไรจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain) มาชดเชย

ดังนั้น บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จึงมีมุมมองเชิงกลยุทธ์เน้นกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท (Asset Allocation) ผ่านกองทุนรวม เพื่อลดการกระจุกตัวของพอร์ต และแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว เพื่อลดผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความผันผวน หรืออาจจะมองหาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูงที่มีโอกาสเติบโตได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจและมีกระแสเงินสดดี

อีกทั้งยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ตราสารหนี้กลุ่ม Investment Grade รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อาทิ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า (REIT) ที่มีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น แต่สามารถให้โอกาสรับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและการลงทุนในพันธบัตร รวมถึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวอีกด้วย


แท็ก uob   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ