ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TCAP ที่ "A+" แนวโน้มเครดิตพินิจ "Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 10, 2019 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คง "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) ทริสเรทติ้งคาดว่าจะสามารถทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทได้เมื่อธุรกรรมดำเนินการรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) เสร็จสิ้นหรือเมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่ทริสเรทติ้งจะทำการวิเคราะห์และหาข้อสรุปในเชิงลึกสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทได้

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธนชาตโดยมี ธนาคารธนชาต ที่บริษัทถือหุ้น 50.96% เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มและรวมไปถึงการที่บริษัทได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอจากธนาคารธนชาต

อันดับเครดิตในปัจจุบันยังสะท้อนถึงความเข้มแข็งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนฐานทุนและรายได้ที่แข็งแรง แหล่งรายได้ที่หลากหลาย และคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร ถึงแม้ว่าแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายย่อยของธนาคารจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่อันดับเครดิตของธนาคารยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากฐานเงินฝากที่มีขนาดปานกลางและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง

เครดิตพินิจ (CreditAlert)

ทริสเรทติ้งประกาศ "เครดิตพินิจ" สืบเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารธนชาต (TBANK) บริษัททุนธนชาต ING Groep N.V. (ING) และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อดำเนินการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต

ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกรรมดังกล่าวส่งผลไปในทางบวกเนื่องจากหลังจากการรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แล้วจะทำให้สถานะทางการตลาดปรับตัวดีขึ้นและมีความสำคัญต่อระบบเพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้ง คาดว่าการรวมกิจการจะช่วยให้เกิดการเกื้อหนุนกันทางด้านสินทรัพย์และเงินทุน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 51% ซึ่งจะช่วยให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น

โดยวิธีการจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งจึงได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงจากในระดับปัจจุบัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของบริษัทในธนาคารธนชาต การพิจารณาอันดับเครดิตในอนาคตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ กระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากธนาคารใหม่ซึ่งเกิดจากการรวมกิจการและจากบริษัทย่อยหลักอื่น ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจการเงิน (Non-operating Holding Company -- NOHC)

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัททุนธนชาตสะท้อนสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารธนชาต ("AA-") อยู่หนึ่งขั้นซึ่งสะท้อนถึงการที่บริษัทต้องพึ่งพิงรายได้เงินปันผลจากธนาคารเป็นหลัก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐที่อาจจำกัดความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของธนาคารธนชาต และการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของเจ้าหนี้ของบริษัทเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ของธนาคารธนชาตอีกด้วย

บริษัทย่อยของบริษัททุนธนชาตประกอบด้วยธนาคารธนชาตและธุรกิจให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจลีสซิ่ง รวมถึงธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต มูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัททุนธนชาตอยู่ที่ 1,079 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยสถานะทางการเงินของบริษัทเกือบทั้งหมดสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของธนาคารธนชาตเนื่องจากสินทรัพย์ของธนาคารมีสัดส่วนถึง 98% ของสินทรัพย์ของบริษัท

มุ่งเน้นสินเชื่อรถยนต์อย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกิจของธนาคารธนชาตสะท้อนถึงธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางที่มุ่งเน้นธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อยและมีความแข็งแกร่งในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ โดยคาดว่าธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจและรายได้หลักของธนาคาร สัดส่วนของผลกำไรสุทธิจากธุรกิจลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ระดับ 54% ของผลกำไรรวมในปี 2561 ในขณะเดียวกัน ธนาคารธนชาตยังดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ การบริหารกองทุน ประกันวินาศภัย และบริหารสินทรัพย์ผ่านบริษัทลูกต่าง ๆ อีกด้วย โดยธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนของกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ณ ปี 2561

ปัจจัยเกื้อหนุนความแข็งแกร่งในด้านสินเชื่อรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็คือแพลตฟอร์มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่ครบวงจรและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั่วประเทศ ธนาคารธนชาตมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์ที่หลากหลาย มีการให้กู้ยืม (ไฟแนนซิ่ง) สำหรับพาหนะเฉพาะประเภทที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการให้สินเชื่อแก่ตัวแทนจำหน่ายและเต็นท์รถยนต์ นอกจากนี้ ยังเสนอขายประกันภัยรถยนต์ผ่านบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจประกันภัย และผ่านช่องทางนายหน้าประกันภัย

ธนาคารธนชาตยังปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ซึ่งเมื่อรวมกับ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) แล้วส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ระดับ 23% ในปี 2561

ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ผลักดันผลประกอบการ

ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันผลประกอบการของธนาคาร สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 57% ของเงินกู้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารมาจากค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และรายได้จากธุรกิจประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยการรับประกันและการขายประกันภัยรถยนต์

ดังนั้น สินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวในช่วงปีที่ผ่านมาจึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนหลักให้กับผลประกอบการของธนาคาร อัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัว 4.4% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 และ 13.4% ในปี 2561 หลังจากมีการเติบโตที่ติดลบอย่างต่อเนื่องถึงปี 2559 รายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงแหล่งที่มาของรายได้อื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของธรุกิจของธนาคารอีกด้วย ซึ่งได้แก่ ค่าธรรมเนียมการบริการกองทุน บัตรเครดิต การซื้อขายหลักทรัพย์ และจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการรับประกันสุทธิรวมทั้งหมดอยู่ที่ระดับประมาณ 22% ของรายได้รวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตาม สภาพการแข่งขันที่ท้าทายของธุรกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมบางรายการที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา

เงินกองทุนแข็งแรง

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัททุนธนชาตจะรักษาเงินกองทุนที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จากการประมาณการ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier-I: CET-1) ของธนาคารธนชาติจะยังคงอยู่ในระดับ 15%-16% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า พิจารณาจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารที่ระดับ 5% และการปันผลที่ระดับ 45% สำหรับครึ่งแรกของปี 2562 อัตราส่วน CET-1 ที่ระดับ 15.9% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ผลกำไรดีพอสมควร

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารธนชาตยังคงเป็นปัจจัยกำหนดความสามารถในการทำกำไรของบริษัททุนธนชาต และคาดว่าธนาคารธนชาตจะสามารถสร้างผลกำไรในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับช่วง 2 ปีก่อน ต้นทุนทางเครดิตที่อยู่ในระดับต่ำและผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อในระดับค่อนข้างสูงส่งผลให้ผลกำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักจากหักต้นทุนทางเครดิตอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ธนาคารสามารถสามารถคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ดี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งได้พิจารณาถึงปัจจัยกดดันต่อต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย

อัตราส่วนผลตอบแทนก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 1.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ในเกณฑ์ดีเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทย ทริสเรทติ้งเปรียบเทียบผลตอบแทนก่อนหักภาษีกับผลการดำเนินการของธนาคารที่ผ่านมา เนื่องจากผลประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้ใช้หมดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ผลกำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักจากหักต้นทุนทางเครดิตก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 2.75% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จากต้นทุนทางเครดิตซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5%-0.6% ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ประสิทธิภาพในการดำเนินซึ่งวัดโดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 47.5% ในปี 2561 ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่สินเชื่อและรายได้รวมขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2560 และ 2561

คุณภาพสินทรัพย์น่าจะยังคงบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าธนาคารน่าจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้าจากการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง การก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวม รวมตัดหนี้สูญ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 0.9% ในปี 2561 การที่ธนาคารธนชาตสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 2.29% ได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้นั้น เนื่องจากการตัดหนี้สูญอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อรายย่อย

แม้กระนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารธนชาตจะมุ่งเน้นธุรกิจที่ยังคงให้ผลตอบแทนหลังปรับค่าความเสี่ยงในเกณฑ์ดีและมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในขณะเดียวกัน ธนาคารธนชาตน่าจะลดการมุ่งเน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลงเนื่องจากแนวโน้มลดลงของราคารถยนต์มือสองและสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ที่ชัดเจนขึ้น การปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็น่าจะลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารน่าจะตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2561 โดยประมาณการต้นทุนทางเครดิตเต็มปีที่ระดับ 60-70 จุด อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 116% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์อื่น

ต้นทุนทางการเงินสูงสะท้อนถึงลักษณะของสินทรัพย์

เมื่อพิจารณาจากงบการเงินแบบรวม แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของบริษัททุนธนชาตสะท้อนถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารธนชาต โดยในมุมมองของทริสเรทติ้ง ธนาคารธนชาตมีธุรกิจเงินฝากขนาดปานกลางด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 6% ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง จากมุมมองของการจัดอันดับเครดิต ความสามารถในการขยายฐานเงินฝากในบัญชีเดินสะพัดและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ในขณะที่ลดต้นทุนทางการเงินลงได้นั้นจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ทริสเรทติ้งยังมองว่าต้นทุนทางการเงินในระดับสูงนั้นส่วนหนึ่งสะท้อนถึงลักษณะของสินทรัพย์ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เงินฝากประจำต้นทุนสูงและเงินกู้ยืมสูง ทำให้ธนาคารมีสัดส่วนของแหล่งเงินทุนรวมในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยบางธนาคาร ต้นทุนทางการเงินของธนาคารธนชาตอยู่ที่ระดับ 1.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 1.6% การลดลงของต้นทุนทางการเงินของธนาคารอย่างต่อเนื่องในระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นแนวโน้มเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ

ธนาคารธนชาตให้ความสำคัญกับการขยายฐานเงินฝากจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งในปี 2561 มีอัตราการขยายตัวของเงินฝากสูงถึง 5.9% จากแคมเปญเงินฝากตอกเบี้ยสูงภายใต้ชื่อ "อัลตร้าเซฟวิ่งส์" อัตราส่วนบัญชีเดินสะพัดและฝากออกทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 49% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จากระดับ 43% ณ สิ้นปี 2560 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ที่ระดับ 60% แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

สภาพคล่องเพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินสภาพคล่องของบริษัททุนธนชาตว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอของธนาคารธนชาต สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 123% ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 90% แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 184% อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของธนาคารก็อยู่ในระดับสูงพอที่ 36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ในระหว่างปี 2562-2564

อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5%

ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60-70 จุด

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5%

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารธนชาต จะอยู่ที่ระดับ 15%-16%

อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ