ฟิทช์ ปรับแนวโน้มเครดิต DTAC เป็น"ลบ"สะท้อนอัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นหลังมีค่าใช้จ่ายยุติข้อพิพาท CAT

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 16, 2019 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย เป็น"ลบ"จาก"มีเสถียรภาพ"

นอกจากนี้ ฟิทช์ฯ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ DTAC ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’

การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Adjusted Net Leverage) ของ DTAC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท หลังจากที่มีการชำระค่าตอบแทนเพื่อระงับข้อพิพาทจำนวน 9.5 พันล้านบาท ให้กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในช่วงต้นปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากฟิทช์คาดว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในกลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น และรักษาระดับกำไร

กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ DTAC ต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท) จากรายได้ที่เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น การลดลงของผู้ใช้บริการที่ย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตถูกปรับมาเป็นมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การเติบโตของรายได้ที่ต่ำ: ฟิทช์ประมาณการว่า EBITDA ของ DTAC จะกลับมาเติบโตในระดับที่ต่ำในปี 2563-2564 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท จากระดับที่คาดไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท) ฟิทช์มองเห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวจากการที่บริษัทมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงคุณภาพและความครอบคลุมของเครือข่าย เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาที่จะส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทปรับตัวดีอย่างมีนัยสำคัญ

รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 5.3% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ EBITDA ได้รับผผลกระทบจากจากค่าเช่าอุปกรณ์ที่จ่ายให้ กสท. และค่าใช้จ่ายในการใช้คลื่นความถี่ 2.3 GHz แก่ บมจ. ทีโอที ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวลดลง 2-3% ในปี 2562 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณะมาณ 36% จาก 37.8% ในปี 2561

การปรับตัวลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้า: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ DTAC จะเป็นลบในปี 2563 และ 2564 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Funds from Operation) ที่ระดับประมาณ 2.3-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในแต่ละปีที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท และค่าคลื่นความถี่ที่ 9 พันล้านบาท-1.3 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราส่วน FFO Adjusted Net Leverage น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7 เท่าในปี 2563 และ 2564 จากระดับ 2.6 เท่า ที่คาดไว้ใน ณ สิ้นปี 2562 (ณ สิ้นปี 2561: 2.0 เท่า) อัตราการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินขึ้นอยู่กับ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทที่จะกลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ใช้บริการที่เติบโต

การครอบครองคลื่นความถี่มากขึ้น: ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะได้รับประโยชน์จากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1.8 GHz ในช่วงปลายปี 2561 และคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งน่าจะลดความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้อยกว่าคู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาดของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และบริษัทได้กลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำกว่าของบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ฟิทช์คาดว่า DTAC จะสามารถรักษาสัดส่วนทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ระดับ 23-24% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2018 อยู่ที่ 24%) เนื่องจากคุณภาพของเครื่อข่ายให้ดีขึ้น และการแข่งขันในตลาดที่ลดลง

การแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น: ส่วนแบ่งทางการตลาดจากรายได้จากการให้บริการของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าส่วนแบ่งทางการตลาด และลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ผู้ประกอบการได้เริ่มยกเลิการเสนอแพ็กเกจเติมเงินแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัด ซึ่งเริ่มมีการให้บริการในปี 2561 ฟิทช์เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวที่มุ่งเน้นการเติบโตของกำไรของผู้ประกอบการและแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูล จะทำผู้ประกอบค่อยๆเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูล

ค่าเช่าดำเนินการที่อยู่ในระดับสูง: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ ฟิทช์ได้ทำการปรับปรุงหนี้สินที่เกิดจากค่าเช่าดำเนินการ โดยอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วของ DTAC มีความอ่อนไหวต่อค่าเช่าดำเนินการ โดยหนี้สินที่เกิดจากค่าเช่าดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 48% ของประมาณการหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วทั้งหมดในปี 2562

ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ 23% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ True (ส่วนทางการตลาดตามรายได้การให้บริการ 28%) และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 2.5 เท่า DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า AIS เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าที่ 48% ในครึ่งปีแรกของปี 2562 และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า

อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ DTAC ที่ระดับ ‘bbb-’ อยู่ในระดับเดียวกันกับ Globe Telecom, Inc. หรือ Globe ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่า Globe จะมีอัตตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า DTAC แต่สถานะทางธุรกิจของ Globe แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจาก Globe มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า และการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่าในตลาดโทรคมนาคมของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย

Bharti Airtel Limited หรือ Bharti ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศอินเดีย มีอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยทั้ง DTAC และ Bharti มีอัตราส่วนหนี้สินที่ใกล้เคียงกัน แต่ Bharti มีการกระจายตัวของรายได้ที่ดีกว่า และมีขนาดที่ใหญ่กว่า DTAC อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ Bharti ถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในประเทศอินเดีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ