ฟิทช์ คงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ADVANC และ AWN ที่ BBB+/AA+(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 16, 2019 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ฟิทช์ฯ ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ AIS และ AWN ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของ AIS ที่ ‘F1+(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ AWN ที่ ‘AA+(tha)’

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

AIS และ AWN มีอันดับเครดิตเท่ากัน: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของ AIS โดยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงิน และการลงทุนของ AWN โดย AWN เป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อกลุ่ม โดยมีสัดส่วนรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็น 94% และ 80% ของกลุ่ม ตามลำดับในปี 2561 นอกจากนี้ AWN ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกลุ่ม AIS โดยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1GHz และ 1.8GHz และ 900MHz และเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ในเดือนมิถุนายน 2562

ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ของ AIS จะเติบโตประมาณ 4-5% ต่อปี ในปี 2562 และ 2563 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 เติบโต 4.1%) เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการใช้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนในปี 2562 จะเติบโตในอัตรา 3-4% ต่อปี ในปี 2562 เนื่องจากคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จะรายได้จะมีการเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการเติบโตที่ช้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 เนื่องจากการแข่งขันในตลาดปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ผู้ประกอบการทุกรายได้เริ่มยกเลิการเสนอแพ็กเกจเติมเงินแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัด ซึ่งเริ่มมีการให้บริการในปี 2561 ในขณะที่รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงน่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มาอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านในปี 2562 จาก 4.4 พันล้านบาท ในปี 2561 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 มีรายได้ 2.7 พันล้านบาท) เนื่องจากบริษัทคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมาอยู่ที่ 1 ล้านราย ณ สิ้นปี 2562 (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 อยู่ที่ 731,000 ราย)

ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Funds from Operation) ของ AIS จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในปี 2562 ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท (2561: 7.3 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อาจจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 42-43 ในปี 2562 จาก 43.5% ในปี 2561 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านเครือข่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม EBITDA Margin ของ AIS น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44-45% ในปี 2563 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการระงับข้อพิพาทกับ บมจ. ทีโอที ในเดือน กันยายน 2562 เกี่ยวกับเสาสัญญาณ และการเช่าอุปกรณ์ภายใต้สัญญาสัมปทานค่าเช่าเสาสัญญาณจาก ทีโอที ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาทต่อปี จากเดิม 3.6 พันล้านบาทต่อปี และ AIS ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งเดิมชำระในจำนวน 2 พันล้านบาทต่อปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไป

ความคล่องตัวในการรองรับการลงทุน: กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS น่าจะยังคงเป็นบวกในปี 2562 (2561 เป็นบวก 3.4 พันล้านบาท) เนื่องจากการชำระค่าคลื่นความถี่และการลงทุนที่ต่ำลง หลังจากที่บริษัทผ่านช่วงการลงทุนที่สูงในการขยายเครือข่าย 3G และ 4G เงินลงทุนด้านเครือข่ายน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2562 และ 2563 จาก 4.1-4.8 หมื่นล้านต่อปี ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการลงทุนที่สูง ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Adjusted Net Leverage) ของ AIS น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 เท่า ในปี 2562 และ 2563 (2561: 1.6 เท่า) ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต และความคล่องตัวด้านการเงินในการรองรับการลงทุนเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในคลื่นความถี่ 5G

ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณ 50% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ครึ่งปีแรกของปี 2561: 49%) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ เนื่องจาก DTAC มีขนาดรายได้ที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า AIS อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ ‘bbb-’ ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC

อันดับเครดิตของ AIS อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ Telekom Malaysia Berhad หรือ TM ที่ ‘bbb+’ TM (อันดับเครดิตที่ ‘A-’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย TM มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า AIS จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและการแข่งขันที่ต่ำในตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และ มี EBITDA Margin ที่สูงกว่า อันดับเครดิตของ AIS สูงกว่าอันดับเครดิตของ PLDT Inc. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ AIS มีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งต่ำกว่า PLDT ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับประมาณ 3.0 เท่าถึงแม้ว่า AIS จะมีบริการโทรคมนาคมที่กระจายตัวน้อยกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ