ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร OISHI ที่ "A+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 25, 2019 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มชั้นนำของไทยคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (หรือ "กลุ่มไทยเบฟ" ได้รับอันดับจากทริสเรทติ้งที่ระดับ "AA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่") อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตราสินค้าของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี รวมถึงสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากการหดตัวของตลาดชาพร้อมดื่ม ตลอดจนสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหาร และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าในประเทศไทยซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การสนับสนุนจากกลุ่มไทยเบฟ

บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มไทยเบฟซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อครั้งที่กลุ่มไทยเบฟได้ซื้อหุ้นของบริษัทในปี 2549 โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2562 กลุ่มไทยเบฟถือหุ้นในสัดส่วน 80% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทโออิชิ กรุ๊ป เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งความสำคัญดังกล่าวช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อันดับเครดิตของบริษัทตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง

บริษัทได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางของกลุ่มไทยเบฟซึ่งครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 4 แสนร้านทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นผู้รับจ้างผลิตเครื่องดื่มให้แก่บริษัทในกลุ่มซึ่งช่วยให้มีการใช้กำลังการผลิตที่สูงยิ่งขึ้นอีกด้วย

เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยเอาไว้ได้จากการมีตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี รวมถึงการมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีนวัตกรรมการออกสินค้าใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 "ชาเขียวโออิชิ" ยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับ 45% เอาไว้ได้ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยเติบโตขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังจากที่ตลาดติดลบ 10% ในปี 2561 อันเป็นผลจากการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตรอัตราใหม่และภาษีน้ำตาลซึ่งเริ่มมีผลมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ภาษีดังกล่าวส่งผลทำให้ต้นทุนเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มปรับตัวสูงขึ้นและผลักดันให้ผู้ผลิตชาพร้อมดื่มต้องปรับขึ้นราคาขาย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชาพร้อมดื่มได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวรับมือกับอัตราภาษีใหม่ได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าผู้ผลิตชาพร้อมดื่มน่าจะสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับอัตราภาษีน้ำตาลที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปี 2562-2566 ได้

บริษัทมีรายได้จากเครื่องดื่มลดลง 15% โดยอยู่ที่จำนวน 5.99 พันล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงจากผลของการปรับขึ้นราคาขายชาเขียวพร้อมดื่มเพื่อชดเชยต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ารายได้จากการส่งออกจะเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากถึง 39% แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยยอดขายที่ลดลงของตลาดภายในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ยอดขายเครื่องดื่มฟื้นตัวกลับมาอีกโดยเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่จำนวน 5.1 พันล้านบาทโดยเป็นผลมาจากตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวและยอดส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจะเติบโตในอัตราที่ต่ำในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างเติบโตเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการกำไรของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่มีประสิทธิภาพ

การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหาร

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่ดีในธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งมากรายและมีการแข่งขันที่รุนแรงเอาไว้ได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งและผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทได้เน้นการขยายสาขาร้านอาหารให้มากขึ้นจนทำให้จำนวนสาขาร้านอาหารเพิ่มขึ้นจาก 240 สาขาในปี 2560 เป็น 252 สาขาในปี 2561 และ 260 สาขา ณ เดือนมิถุนายน 2562 หลังจากที่มีจำนวนสาขาค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2558-2560

บริษัทมีแนวโน้มยอดขายสาขาเดิมที่ค่อนข้างอ่อนตัวโดยมีอัตราการเติบโตติดลบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยยอดขายในสาขาเดิมมีอัตราการเติบโตเป็นบวกในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2562 โดยตราสินค้าร้านอาหารที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ได้แก่ "โออิชิราเมน" "ชาบูชิ" "นิคุยะ" และ "คาคาชิ" ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมายอดขายในสาขาเดิมจะอ่อนตัวลง แต่บริษัทก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในร้านอาหารจนทำให้ความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจร้านอาหารปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ผลจากความพยายามดังกล่าวทำให้รายได้จากธุรกิจอาหารของบริษัทเติบโตขึ้น 1.7% มาอยู่ที่ 6.61 พันล้านบาทในปี 2561 และเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมาอยู่ที่ 5.39 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมในธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายแล้วถือว่าปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 11.4% ในปี 2561 และ 12.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากที่ระดับ 10.1% ในปี 2559

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารที่เติบโตขึ้นประมาณ 2%-3% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565 โดยคาดว่าการเปิดสาขาร้านอาหารเพิ่มเติมจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหารจะยังคงกดดันการเติบโตของยอดขายในสาขาเดิมต่อไปก็ตาม ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรนั้นก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจต่อไปเนื่องจากบริษัทน่าจะสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หนี้สินอยู่ในระดับต่ำ

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สมเหตุสมผล และการไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2558-2561 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.4 เท่าในปี 2561 และ 0.1 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากที่ระดับ 2 เท่าในปี 2557

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความต้องการใช้เงินกู้ยืมค่อนข้างน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.3 พันล้านบาทต่อปีนั้นน่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1 พันล้านบาท (ไม่รวมงบสำหรับการซื้อกิจการ) และการจ่ายเงินปันผลในช่วงปี 2562-2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสถานะที่ปลอดภาระหนี้สินในปี 2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จะเติบโตที่ระดับประมาณ 7% ในปี 2562 และ 2% ต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17%-18%

เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจได้ต่อไป ในขณะเดียวกันบริษัทก็น่าจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจชาพร้อมดื่มและธุรกิจร้านอาหารไปพร้อมกับการมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและคงระดับหนี้ในระดับต่ำเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องยาวนานในระยะหนึ่ง หรือหากบริษัทมีแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนและ/หรือซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม หรือหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและความเกี่ยวโยงที่บริษัทมีกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ