ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร TWPC ที่ระดับ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 1, 2019 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ของ บมจ. ไทยวา (TWPC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันของบริษัทในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่มีความผันผวน รวมถึงการให้ความสำคัญในผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้อง และนโยบายทางการเงินของผู้บริหารที่ค่อนข้างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนโดยธรรมชาติของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นแป้งมันสำปะหลัง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมันสำปะหลังที่ผลิตได้ไม่แน่นอนในแต่ละฤดูกาล รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ความไม่แน่นอนในประเทศจีนก็ถือว่าเป็นประเด็นด้านลบด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความผันผวนในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง

อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ราคาแป้งมันสำปะหลังดิบยังคงมีความอ่อนไหวต่อราคาของต้นทุนวัตถุดิบ และสินค้าทดแทน โดยเฉพาะข้าวโพด ในปี 2561 ราคาขายส่งออกแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย (F.O.B. Bangkok) เพิ่มขึ้นเป็น 498 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เติบโต 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเป็น 451 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 สอดคล้องกับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตหัวมันสำปะหลังในประเทศไทยที่กลับเข้าสู่ระดับปกติ

ด้านอุปทานก็มีการเผชิญกับสถานการณ์ที่ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังปรับตัวลดลง 50% ในปี 2561 เช่นกัน อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังและภาวะขาดแคลนพืชผลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้ การที่ราคาของมันสำปะหลังในประเทศไทยปรับตัวลดลง ณ ช่วงปลายปี 2560 ยังจูงใจให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น อ้อย เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการขาดแคลนหัวมันสำปะหลัง ดังนั้น ราคาวัตถุดิบจึงปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าราคาขายในปี 2561

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคาหัวมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังจะปรับตัวในทิศทางเดียวกันในระยะยาว

อัตรากำไรปรับตัวอ่อนลง

อัตรากำไรในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาและความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ปี 2561 นับเป็นปีแห่งความท้าทายของบริษัท เนื่องจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาภาวะขาดแคลนมันสำปะหลัง

ราคาขายส่งออกแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 44% เป็น 498 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2561 จาก 345 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2560 แต่ต้นทุนวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น 70% เป็น 2.38 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในปี 2561 ดังนั้น อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจึงลดลงเป็น 8.1% ในปี 2561 จาก 11.7% ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนหัวมันสำปะหลังปรับตัวลดลงเป็น 2.35 บาทต่อ กก. ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 9%-11% ในปี 2562-2565 เนื่องจากกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนหัวมันสำปะหลังปรับตัวลดลง

การให้ความสำคัญในผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง

บริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (HVA) และขยายบทบาทไปในตลาดโลกมากขึ้น บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-25% แต่ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบคิดเป็น 45% ของรายได้รวม มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงคิดเป็น 35% และมีรายได้จากผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องคิดเป็น 20%

ในอนาคตข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงและอาหารเป็น 66%-70% ของรายได้รวมและจะลดสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดิบลงให้เหลือเพียง 30%-34%

ภาระหนี้ทางการเงินจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 11.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จากสถานะปลอดหนี้ ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการซื้อกิจการ บริษัท แม่สอด สตาร์ช จำกัด และ บริษัท แม่สอด ไบโอแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและผู้ผลิตแก๊สชีวภาพในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 548 ล้านบาท รวมถึงบริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนค่อนข้างผันแปรที่ระดับ 500-1,200 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565 ซึ่งค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนส่วนใหญ่บริษัทจะใช้เพื่อสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังระยะที่ 2 ในประเทศกัมพูชา ขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและโรงงานก๊าซชีวภาพ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประจำปี

ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะสูงขึ้นที่ระดับ 4.6%-15.7% ในช่วงปี 2562-2565 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจระหว่าง 7-15 เท่าในระหว่างปี 2562-2565

สภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 580-640 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 420 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 1.011 พันล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอยู่ที่ 60-1,060 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้รวมของบริษัทจะปรับตัวลดลง 9%-14% ในปี 2562-2563 แต่จะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565

อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 18%-19% และ 9%-11% ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2562 และ 500 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้นในประเทศไทยไว้ได้ รายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแป้งมันสำปะหลังที่จะมีต่ออัตรากำไรของบริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดในขณะที่สามารถรักษาระดับภาระหนี้ทางการเงินและรักษานโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเอาไว้ได้

ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่กำไรและผลตอบแทนของบริษัทลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ