บล.เอเซีย พลัส มอง กนง.ลดดบ.ชะลอเงินบาทแข็งค่า ,เป็นบวกกลุ่มเช่าซื้อ-แบงก์เล็ก-อสังหาฯ-หุ้นปันผลสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 6, 2019 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น เป็นไปตามตลาดคาด และจะเป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อค่าเงินบาทให้ชะลอการแข็งค่า ขณะที่ประเมินหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ,กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ,กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นปันผลสูง

ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะเป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์ เพราะทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับ และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น BBL, KTB, KBANK, SCB

สำหรับกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ อย่างกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง เพราะบริษัทส่วนใหญ่มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราคงที่สูง (ยกเว้น IFS) ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มส่วนใหญ่ เป็นหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวลง จะทำให้ต้นทุนของกลุ่มเช่าซื้อถูกลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นต่อระยะยาวมากกว่ากลุ่ม ซึ่งสามารถปรับต้นทุนให้เหมาะสมได้มากกว่า ได้แก่ ASK, SAWAD, THANI

แต่เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด ฝ่ายวิจัยฯแนะนำ Switch ยกเว้น MTC ที่ฝ่ายวิจัยฯเตรียมปรับไปใช้ Fair value ปี 63 ที่ 71 บาท จะมี Upside 20% ซึ่ง MTC เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นดอกเบี้ยคงที่สูง แต่มีโครงสร้างเงินฝากบางส่วนเป็นดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM เช่น TCAP ราคาเหมาะสม 63 บาทและ KKP ราคาเหมาะสม 79.5 บาท

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะทำให้อัตราการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ที่อยู่อาศัยลดลง ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และได้ Sentiment เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้น คือการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง หุ้นในกลุ่มนี้ที่ชอบคือ LH ราคาเหมาะสม 12.30 บาท, PSH ราคาเหมาะสม 18.5 บาท และ SPALI ราคาเหมาะสม 9.5 บาท

หุ้นปันผลสูง จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยที่จะกดดันให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลง แต่ไม่น่าปรับลงมากนัก โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) 10 ปีของไทย อยู่ระดับต่ำที่ 1.59% ลดลงจากต้นปี 62 ที่อยู่ราว 2.58% ในทางตรงข้ามก็มีโอกาสที่เม็ดเงินจะย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หุ้นปันผลสูง ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ แนะนำคาดหวัง Dividend Yield มากกว่า 6% คือ MCS ราคาเหมาะสม 11.3 บาท, รวมถึง LH และ KKP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ