BCP เผยกำไร Q3/62 ลดลงจากงวดปีก่อนและไตรมาสก่อน แม้ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับขึ้น แต่ขาดทุนสต็อกกดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 8, 2019 08:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 46,481 ล้านบาท ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 2,141 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 370 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.27 บาท โดยหลักมาจากธุรกิจโรงกลั่นที่มีค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก และยอดขายน้ำมัน B20 คุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม BCP ระบุในเอกสารที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มเติมว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 3/62 ลดลง 30% จากระดับ 528 ล้านบาทในไตรมาส 2/62 และลดลง 80% จากกำไรสุทธิ 1,856 ล้านบาทในไตรมาส 3/61 โดยในไตรมาส 3/62 มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 7.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 2/62 และเพิ่มขึ้นจาก 7.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 3/61 แต่ในไตรมาส 3/62 มีผลขาดทุนจากสต็อกทำให้มีค่าการกลั่นรวมอยู่ที่ 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 4.53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/62 และ 8.05 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 3/61

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 140,343 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA 6,289 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,112 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.81 บาท

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ได้กลับมาสู่สภาวะปกติ สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง หลังจากประสบกับสภาวะค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับตัวลงค่อนข้างมากและมีการหยุดซ่อมอุปกรณ์บางส่วนในหน่วยกลั่นในช่วงครึ่งปีแรก และสามารถทำสถิติการกลั่นต่อวันสูงสุด 129,400 บาร์เรล และเฉลี่ยต่อวันที่ 123,500 บาร์เรลในเดือนกันยายน โดยในไตรมาส 3/62 มีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ มีอัตราการผลิตเฉลี่ย 110,800 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนในระหว่างไตรมาสที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบกับมูลค่าสินค้าคงคลังของบริษัทฯ ทำให้ในไตรมาสนี้มี Inventory Loss 1,163 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 680 ล้านบาท มีปริมาณการจำหน่ายรวม 1,523 ล้านลิตร ค่าการตลาดรวม 0.77 บาทต่อลิตร แม้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วง low season และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ก็สามารถทำสถิติสัดส่วนการตลาดสูงสุด 16.3% ในเดือนกรกฎาคมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 ผ่านตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากไตรมาสก่อน และได้เปิดจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 เพิ่มขึ้นตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 710 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและให้บริการ 790 ล้านบาท มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ 82.74 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้าจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มไตรมาสของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย "ลมลิกอร์" และเริ่มรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว "Nam San 3A" กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 69 เมกะวัตต์ ที่บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ได้เข้าถือหุ้น 100% ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2562

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 296 ล้านบาท มีการเติบโตเป็นเท่าตัว โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ B100 ที่เพิ่มขึ้น ด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีการขยายกำลังการผลิตโรงงานที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จาก 200,000 เป็น 300,000 ลิตรต่อวัน และได้การกลับมาดำเนินงานตามปกติหลังหยุดซ่อมบำรุงประจำปี

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA 88 ล้านบาท และแหล่งผลิต Draugen และ Gjøa ในสัดส่วนของ OKEA มีอัตราผลิตและการจำหน่ายน้ำมันดิบลดลง รวมทั้งมีการบันทึกค่าใช้จ่ายการสำรวจและประเมินแหล่งน้ำมันดิบ และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท บางจากฯ ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพ และแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในทุกธุรกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรับผิดชอบดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยยึด 3 แนวหลัก BCG Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล กล่าวคือ B (Bio economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า C (Circular economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และ G (Green economy) เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อโลก สร้างความยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ