(เพิ่มเติม) AOT คาดกำไรสุทธิงวดปี 62 ทรงตัวจาก 2.5 หมื่นลบ.งวดปี 61 หลังผู้โดยสารโตเพียง 1.7% ,เพิ่มงบพัฒนาสนามบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 15, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าในงวดปีบัญชี 62 (ต.ค.61-ก.ย.62) จะมีกำไรสุทธิทรงตัวหรือใกล้เคียงปีบัญชี 61 ที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากจำนวนผู้โดยสารในงวดปีบัญชี 62 เติบโตเพียง 1.7% เนื่องจากผู้โดยสารเส้นทางในประเทศปรับตัวลดลง แต่จำนวนผู้โดยสารเส้นทางต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากสายการบินนำ slot การบินเส้นทางในประเทศไปเป็นเส้นทางต่างประเทศ ในสถานการณ์ตารางบินที่สนามบินเต็ม

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายพนักงานตามประกาศแรงงานฉบับใหม่ของกฎหมายแรงงานรัฐวิสหกิจสัมพันธ์ ที่จะต้องบันทึก 730 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปีนี้ด้วย (ก.ค.-ก.ย.)

"ในปี 62 มีเรื่องผิดคาดทั้งในเชิงลบและเชิงบวก จาก slot เต็ม แอร์ไลน์ ปรับเที่ยวบินในประเทศไปเป็น อินเตอร์ฯ และงวดปีนี้มีค่าใช้จ่ายตามกฎหมายแรงงานฯ 730 ล้านบาท เมื่อหักกลบไปก็ใกล้เคียงปีก่อน"นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวว่า ในงวดปีบัญชี 63 (ต.ค.62-ก.ย.63) คาดว่ากำไรจะเติบโตเล็กน้อยจากงวดปีบัญชี 62 และคาดรายได้เติบโต 6-10% จากจำนวนผู้โดยสารที่คาดเติบโต 5-6% ในภาวะที่สนามบินยังไม่สามารถขยายการรองรับผู้โดยสาร ขณะที่จะมีรายได้ใหม่จากธุรกิจคาร์โก้ และ Digital Platform แต่คาดว่าจะยังทำรายได้ไม่ได้มาก

นอกจากนี้ ธุรกิจพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ Airport City ที่อยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นที่ดินแปลง 37 ได้เตรียมขยายเวลาเช่าจากกรมธนารักษ์ จากที่สิ้นสุด ปี 75 จะขยายออกไป 30-50 ปี ซึ่งใกล้เซ็นสัญญาปลายปีนี้ ขณะที่ดินอีกแปลงที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ 723 ไร่ อยู่ระหว่างเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเข้มมาเป็นสีน้ำเงิน (พื้นที่โซนราชการ) ซึ่งคาดลงราชกิจจาฯในเดือนธ.ค.นี้ โดยบริษัทคาดจะจัดการบริหารโครงการต่าง ๆ ที่มีเอกชนยื่นข้อเสนอมาแล้วกว่า 40 รายทั้ง 2 แปลงเพื่อให้เหมาะในแต่ละพื้นที่ได้ในไตรมาส 1/63

สำหรับในงวดปีบัญชี 64 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตมาที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะได้รับรายได้ขั้นต่ำสัญญาพื้นที่ดิวตี้ฟรี 2 สัญญาใหม่ จากกลุ่มคิงเพาเวอร์ สูงกว่าสัญญาเดิม อยู่ 1.4 หมื่นล้านบาท และคาดรายได้เติบโตตามการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสาร และปลายปี 63 คาดจะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 ด้วย

นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเพิ่มงบลงทุนในการขยายท่าอากาศยานเป็นกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน/ปี จากงบลงทุนเดิมที่ 2 แสนล้านบาท ที่จะรองรับผู้โดยสารได้ 181.50 ล้านคน/ปี ในช่วงปี 60-68 หลังจะเพิ่มการลงทุนท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง คือ เชียงใหม่ 2 และภูเก็ต 2 และการเข้าบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 4 แห่ง

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มีประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท และเงินสดในมือที่มีอยู่ 7.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามในปี 63-64 ยังต้องใช้เงินลงทุนเพื่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน 1 ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินกู้ระยะสั้น 1-2 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้วย

ทั้งนี้ งบดังกล่าวได้รวมงบลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) หรือเดิมคือ เทอร์มินัล 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ใช้งบลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน เพิ่มจากแผนเดิมที่รองรับ 30 ล้านคน

นายนิตินัย กล่าวอีกว่า การลงทุน North Expansion เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้สนามบิน ผู้ใช้บริการ เช่น สายการบินต่าง ๆ และเพื่อลดความแออัดภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ปรับไปตามสถานการณ์ที่บริษัทยืนยันปฏิบัติตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยแผนแม่บทเดิมใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 46 หรือ 16 ปีที่แล้ว ขณะที่บริษัทยังคงแผนแม่บทที่จะขยายเฟสต่อไป ได้แก่ อาคารเทียบเครื่องบิน หลังที่ 2 และส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ หรือ เทอร์มินัล 3 พร้อมรันเวย์ที่ 4 ขณะที่ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก จะลงทุนต่อเมื่อการขยายดังกล่าวยังไม่พอรองรับผู้โดยสาร

สำหรับโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือนั้น ฝ่ายบริหารจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติ ในวันที่ 20 พ.ย.62 หากได้รับการอนุมัติก็จะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ พิจารณา หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ