SCBS ประเมินกรอบ SET Index ปี 63 ที่ 1,600-1,800 จุด คาดกำไรบจ.พลิกกลับมาโต 11% หลังติดลบมา 2 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 18, 2019 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า SCBS มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นในตลาดหุ้นไทยปี 63 แม้ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่คาดว่าเศรฐกิจโลกยังคงเติบโตได้แม้อัตราการเติบโตต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศหลักอย่างเช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงประเทศเกิดใหม่ ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้มาตรการ QE รองรับความเสี่ยงแล้วตั้งแต่ปลายปี 62

ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจเพิ่มเติมทั้งด้านการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงการเบิกใช้งบประมาณปี 63 ในช่วงต้นปีหน้า จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 63 ให้เติบโตได้ แม้จะยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านการส่งออก แต่ยังมีปัจจัยการลงทุนของรัฐบาลและเอกชนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 63

ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามีความเสี่ยงจำกัด เนื่องจากคาดว่าการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 62 สิ้นสุดแล้ว ในขณะที่กำไรสุทธิมีโอกาสฟื้นตัวในปี 63 ราว 11% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ติดลบมา 2 ปีต่อเนื่อง

ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งยังปรับขึ้นช้ากว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่แล้วหลายตลาด ทำให้ผลตอบแทนเริ่มจำกัด ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากขึ้นในปี 63 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐฯ กับจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ในเบื้องต้น

พร้อมมองกรอบการเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในปี 63 อยู่ที่ 1,600-1,800 จุด แต่หากมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมเข้ามาอาจจะทำให้กรอบปรับลดลงไปอยู่ที่ 1,550-1,580 จุด

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเน้นหุ้นที่มีเงินปันผล ราคาไม่แพงและกำไรสุทธิยังคงเติบโตได้แม้ไม่สูงก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม และแนะนำให้เริ่มทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี หลังจากมูลค่าหุ้นลดลงมาสะท้อนความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว โดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว และสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (SCB Chief Investment Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วง Late Cycle โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าหลัก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนานมากขึ้น และดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ถือเป็น New Normal ขณะที่ทุกคนยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเกิด Recession ใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันธนาคารกลางต่างๆ ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อในปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกมีน้อยลงเช่นกัน เพราะมีข้อจำกัดในการส่งผ่านนโยบายการเงิน เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ภาคการเงินก็ระมัดระวังการให้สินเชื่อ และธนาคารกลางหลายแห่งยังต้องการเก็บกระสุนที่มีจำกัดไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มใช้นโยบายการคลังควบคู่กับนโยบายการเงิน ซึ่งนโยบายการคลังก็มีข้อจำกัดจากการมีหนี้สาธารณะซึ่งอยู่ในระดับสูง

โดยมองว่าผลจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มผ่อนคลายลง โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันจะมีท่าทีที่อ่อนลงในประเด็นสงครามการค้าในช่วงปีหน้าก่อนจะถึงกำหนดเลือกตั้งครั้งใหม่ จะส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับตลาดการเงิน

"แม้เศรษฐกิจภาพใหญ่ยังดูไม่สดใส แต่สินทรัพย์เสี่ยงได้ตอบรับปัจจัยนี้เข้าไปแล้ว หากเริ่มจับสัญญาณการกลับตัวที่จะบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่สำคัญ ซึ่งหาก PMI เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าคงคลังลดลง และกำไรของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีเสถียรภาพหรือไม่ปรับลดลง ถือเป็นสัญญาณ Bottom Out ที่ควรจะเริ่มเข้าลงทุนใน early stage"นายศรชัย กล่าว

กลยุทธ์การลงทุนในปี 63 ให้หาจังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเลือกลงทุนในตลาดหุ้น หรือในอุตสาหกรรมที่ราคาปรับลดลงมามากจนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือราคายัง Laggard ขณะที่หลีกเลี่ยงลงทุนในตราสารหนี้เอกชน High Yield และเน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชน Investment Grade

ตลาดหุ้นที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ ซึ่ง Valuation อยู่ในระดับต่ำ Earning มีแนวโน้มที่ดี โดยควรรอเข้าลงทุน หลังมีความชัดเจนของนโยบาย Health care, ตลาดหุ้น Asia Emerging Market จากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น ตลาดหุ้นจีน ซึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ตลาดหุ้นฮ่องกง ในกลุ่มหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น property และ infrastructure บางตัว

ขณะเดียวกันแนะนำให้เข้าลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนของ REITs ในไทยและต่างประเทศเริ่มปรับสูงขึ้น จากการที่ถูกเทขายหลังจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะไม่ลดลงอีกแล้วในปีนี้ จึงแนะนำให้รอและทยอยเข้าลงทุนเมื่อ Yield เพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 5.4-6% ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ แนะนำลงทุนใน ตลาดน้ำมัน และหลีกเลี่ยงลงทุนในตลาดทองคำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ