(เพิ่มเติม) BAFS คาดสรุปศึกษาขยายลงทุนต่างประเทศพร้อมหาพันธมิตร-เริ่มธุรกิจใหม่ภายในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 21, 2019 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนและการวิเคราะห์โอกาสและศักยภาพของตลาด พร้อมแสวงหาพันธมิตรที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ผลสรุปในปี 2563

ในส่วนของธุรกิจอื่น บริษัทมีแนวทางจะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขยายไลน์การผลิตรถเติมน้ำมันและรถสนับสนุนภาคพื้นดินภายในสนามบินที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรมเฉพาะและใช้เทคโนโลยีระบบวิศวกรรมที่ทันสมัย อีกทั้งหาช่องทางที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลก ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยื่น การเดินทางในรูปแบบใหม่ การขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์อากาศยานในรูปแบบไฮบริด ไฟฟ้า และเรื่องของออโตเมชั่น หุ่นยนต์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบทางธุรกิจในวงการการบิน บรัษัทจึงวางกลยุทธ์การเติบโต แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

Expansion การนำธุรกิจหลักขยายไปยังสนามบินใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาก็มีการจับมือกับพันธมิตรเข้าประมูลโครงการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา และอยู่ระหว่างการศึกษานำกลุ่มบริษัทฯ ไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่จะเข้าประมูลในสนามบินต่างประเทศในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในภูมิภาค

Adjacent Business ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจับมือกับพันธมิตร เช่น IT, ซอฟแวร์ เป็นต้น

และ Diversification การกระจายความเสี่ยงของรายได้ รุกไปสู่ธุรกิจที่บริษัทฯ ยังไม่เคยทำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มบริษัทให้มีความมั่นคงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น แสงอาทิตย์ ลม และน้ำ ผ่านการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บริษัทได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันด้านการเติบโต ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยมีการเจรจากับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 2/63 อีกทั้งศึกษาการนำเข้าระบบบริหารพลังงานของอาคาร สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ท่าอากาศยาน เป็นต้น เพื่อจัดการต้นทุนด้านพลังงาน โดย BAFS เจรจากับพันธมิตรที่มีการพัฒนาซอฟแวร์ในด้านดังกล่าวเพื่อเข้าไปร่วมลงทุน และนำผลิตภัณฑ์เข้ามาให้บริการในประเทศไทย

นอกจากนี้ ธุรกิจข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลซอฟต์แวร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการนำบล็อกเชน หรือ DLT เข้ามาพัฒนาใช้และต่อยอดการให้บริการ เช่น ระบบการคืนภาษีน้ำมันอากาศยาน, รูปแบบการซื้อขายน้ำมันผ่านระบบโทเคน บล็อกเชน เป็นต้น เพื่อลดการใช้เอกสาร และการขยายไลน์การผลิต ในการพัฒนาแขนกลให้บริการน้ำมันคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ภายในปีหน้า

"การคัดเลือกพันธมิตรเราจะดูจากประสบการณ์ในแต่ละด้าน และต้องมีธรรมาภิบาล โดยสัดส่วนของการลงทุนก็จะขึ้นอย฿กับความถรัด ถ้าธุรกิจที่เราจะทำมีความถนัดอยู่แล้ว เราก็อาจจะเข้าไปถือหุ้นมากกว่า แต่ถ้าอันไหนไม่ถนัดเราก็ถือน้อยกว่า ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่ได้สูงมาก ซึ่งเราจะดูในเรื่องของความยั่งยืนของการลงทุน"หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ BAFS ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจหลักและธุรกิจอื่นๆ อย่างละครึ่ง หรือ 50:50 ในอนาคตข้างหน้า หลังปรับกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน โดยภายในระยะ 5 ปีนี้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจหลักจะปรับมาเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 80% และธุรกิจอื่นๆ จะเพิ่มเป็น 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ขณะเดียวกันยังวางเป้าหมายรายได้จะเติบโตแตะ 10,000 ล้านบาท ภายในไม่เกินปี 73

ส่วนแผนดำเนินงานในปี 63 หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 7% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 5-6% เป็นไปตามปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานที่คาดจะเติบโตเพิ่มเป็นราว 4% จากปีนี้ 2.7% โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายระบบท่อส่งน้ำมันสายเหนือที่ขณะนี้ได้วางท่อใต้พื้นดินจากคลังน้ำมันบางปะอินไปถึงคลังน้ำมัน จ.พิจิตร แล้ว และจะขยายไปถึง จ.ลำปาง ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 63

ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/62 เป็นต้นไป จากเป็นช่วงของไฮซีซั่นของธุรกิจ เชื่อว่าจะช่วยทำให้ปริมาณการเติมน้ำมันฟื้นตัวดีขึ้น

บริษัทได้วางงบลงทุนรวมของปีหน้าไว้ที่ 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันขนาด 15 ล้านลิตร จากปัจจุบันมีอยู่ราว 105 ล้านลิตร และย้ายสถานีเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังบริเวณอื่น เนื่องจากมีการเรียกคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่จะเชื่อมเข้ามาภายในสนามบิน รวมถึงใช้รองรับโครงการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างรอการประมูลหลังจากกลุ่มพันธมิตรของบริษัทผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติแล้ว โดยเงินลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ที่บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ล้านบาทต้นปี 63 จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 2,500 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ