SKE มั่นใจกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นไปตามแผนแตะ 30MW ในปี 65 หากได้โครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจากลูกค้าภาครัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 19, 2019 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. สากล เอนเนอยี (SKE) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่กระทิง (MKP) จังหวัดแพร่ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 8 เมกะวัตต์ อัตราการรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.56 บาท/หน่วย หากปี 63 ได้เพิ่มมาอีก 11 เมกะวัตต์ จากที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป ให้กับหน่วยงานภาครัฐขนาดเล็กหลายราย โดยคาดว่าจะทยอยได้ข้อสรุปภายในปี 63 ซึ่งจะใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 300 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ปี 63 มีกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ทำให้มั่นใจว่าจะทำให้แผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 30 เมกะวัตต์ ภายในปี 65 ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 63 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% จากปี 62 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่กระทิงเต็มปี หลังจาก COD เมื่อเดือน ส.ค. 62 ที่ผ่านมา รวมทั้งเน้นบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบให้เหลือ 8 ล้านบาท/เดือน หรือจากปัจจุบันต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ 12 ล้านบาท/เดือน

ปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงอยู่ที่ 400 ตัน/วัน คิดเป็นต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 10 ล้านบาท/เดือน บริษัทพยายามบริหารจัดการให้ใช้เชื้อเพลิงอยู่ที่ 380 ตัน/วัน จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเหลืออยู่ที่ 8 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นธุรกิจโรงไฟฟ้าปี 63 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 62

"ปี 63 เราจะเน้นโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้สำเร็จ กำลังการผลิตรวม 11 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราได้แสดงความพร้อมว่าเราทำได้จริง ส่วนราคาจะมีส่วนลดประมาณ 4-8% ทำให้ราคาขายไฟฟ้าอยู่ที่ 3.45 บาท/หน่วย" นายจักรพงส์ กล่าว

สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ในปี 63 ตั้งเป้าหมายปริมาณการขายก๊าซไบโอมีเทนอัดไว้ที่ 6.3 ตัน/วัน แบ่งเป็นจากการขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 5.5 ตัน/วัน และการขายหน้าสถานีบริการ จำนวน 1.3 ตัน/วัน

ขณะที่ธุรกิจสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (PMS) ให้บริการอัดก๊าซธรรมชาติ (NGV) คาดว่าปริมาณอัดก๊าซเฉลี่ยในปี 63 อยู่ที่ 500 ตัน/วัน ทรงตัวจากปี 62 โดยได้รับผลกระทบจากนโยบายสนับสนุน B10 ของภาครัฐ ทำให้รถบรรทุกเชิงพาณิชย์หันมาใช้ดีเซลแทน และด้วยภาพรวมเศรษฐกิจ การนำเข้าและส่งออก มีการชะลอตัว อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจฟื้นตัว เชื่อว่าปริมาณอัดก๊าซอาจขึ้นไปอยู่ที่ 550 ตัน/วัน

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 63 มาจากธุรกิจสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (PMS) และธุรกิจผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) คิดเป็นประมาณ 50% และธุรกิจโรงไฟฟ้า คิดเป็นประมาณ 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ