ฟิทช์ คงอันดับเครดิต BBL ที่ ‘BBB+’และ AA+(tha) จากแผนการเข้าซื้อธนาคารในอินโดฯ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 23, 2019 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศแผนการเข้าซื้อหุ้น ของธนาคาร PT Bank Permata Tbk (AAA(idn)/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) ประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วน 89% โดยธุรกรรมครั้งนี้ยังต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และทางการที่เกี่ยวข้อง โดย BBL คาดว่าธุรกรรมการซื้อขายจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 ปี 2563

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ พิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating หรือ VR) ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของของธนาคารเอง

การประกาศคงอันดับเครดิตและให้แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคารพิจารณาจากมุมมองของฟิทช์ว่าการเข้าซื้อหุ้น Permata ไม่น่าจะส่งผลให้โครงสร้างเครดิตของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามธุรกรรมดังกล่าวได้แสดงถึงระดับคามเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ (risk appetite) ที่สูงขึ้น รวมถึงการยอมรับต่อการมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยง (risk absorption buffer) ที่ลดลงได้ ขนาดของสินทรัพย์ที่ธนาคารจะเข้าซื้อ (หากสำเร็จ) ถือว่ามีนัยสำคัญโดยจะคิดเป็น 9% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารภายหลังรวมกิจการตามตัวเลขประมาณการของธนาคาร อีกทั้งฐานะเงินกองทุนของธนาคาร (ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคารมาอย่างยาวนาน) มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคาร อาจลดลงเป็น 14.5% จาก 17.7% จากตัวเลขประมาณการของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 แต่ปัจจัยที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นอัตราส่วนเงินกันสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และระดับสภาพคล่องที่น่าจะยังทรงตัวและสนับสนุนโครงสร้างเครดิตของธนาคารภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการต่อไปได้

แผนการเข้าซื้อกิจการของ Permata สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของ BBL ที่ต้องการเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคโดยมีเครือข่ายทางธุรกิจที่ครอบคลุมมากขึ้นในตลาดที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิทช์เชื่อว่า BBL มีสถานะที่ดีกว่าธนาคารอื่นในด้านการขยายตัวของธุรกิจในตลาดต่างประเทศ จากความเชี่ยวชาญในด้านกิจการต่างประเทศของธนาคาร โดยธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารคิดเป็นประมาณ 17% ของสินเชื่อรวมอย่างไรก็ตามขนาดและความซับซ้อนของธุรกรรมอาจทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงจากการดำเนินการตามแผน (execution risk) อีกทั้งอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการผสานธุรกิจและใช้ประโยชน์จากการรวมธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธนาคารต่อไป

BBL เป็นหนึ่งในธนาคารไทยที่มีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งที่สุด ความสามารถในการสร้างกำไรที่เพียงพอและการจ่ายเงินปันผลจะเป็นสิ่งชี้วัดว่าธนาคารจะสามารถสร้างฐานะเงินกองทุนซึ่งอาจจะปรับตัวลดลงไปหลังจากการเข้าซื้อกิจการกลับมาได้หรือไม่

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ฟิทช์จะสังเกตการณ์ระดับของการยอมรับความเสี่ยง (risk appetite) และฐานะเงินกองทุนของธนาคารอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการปรับตัวอ่อนแอลงมากกว่าที่คาดไว้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงที่มากขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งแสดงถึงการลดระดับมาตรฐานการประเมินความเสี่ยงของธนาคารที่อ่อนแอลงลงอาจส่งผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิต นอกจากนี้ผลประกอบการที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งทำให้ระดับต่ออัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญในด้านคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนอ่อนตัวลงอาจส่งผลให้อันดับเครดิตของธนาคารถูกปรับลดอันดับเช่นกัน ทั้งนี้โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารนั้นถูกจำกัดเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BBL ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) แล้ว

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ