BCP เล็งลดปริมาณกลั่นลง 5% ช่วงนี้ หลังค่าการกลั่นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ พร้อมวอนรัฐพิจารณาปรับราคาหน้าโรงกลั่นอย่างรอบคอบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 27, 2019 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมลดปริมาณกลั่นน้ำมันในช่วงนี้ลงราว 5% เนื่องจากค่าการกลั่น (GRM) ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำหากกลั่นน้ำมันในปริมาณที่สูงอาจจะไม่คุ้มทุน แม้ปัจจุบันค่าการกลั่นของบริษัทจะไม่ได้อยู่ในระดับติดลบเหมือนตลาดสิงคโปร์ แต่ก็อยู่ในลักษณะแค่ประคองตัว ทำให้คาดว่าเฉลี่ยทั้งไตรมาส 4/62 จะกลั่นน้ำมันในระดับราว 1.13-1.15 แสนบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ตามด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ยังอยู่ในระดับสูงคาดว่าสิ้นปีนี้จะปิดที่ระดับ 65-66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็อาจจะทำให้บริษัทมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน เข้ามาชดเชยค่าการกลั่นที่ปรับตัวลงได้บ้าง ส่วนจะลดกำลังการกลั่นต่อเนื่องถึงในปีหน้าหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน ทั้งด้านการตลาด การบริหารจัดการ และการดูแลกลุ่มลูกค้าด้วย

"กำลังการกลั่นก็ลดลงมาประมาณ 5% ในช่วงนี้ ตอนนี้ค่าการกลั่นเรายังไม่ติดลบ ยังเป็นบวกช่วงนี้ก็ประคองตัวได้ แต่ที่ต้องลดการกลั่นเพราะบาร์เรลสุดท้ายจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าแนวโน้มราคาน้ำมันปิดสิ้นปีที่ 65-66 เหรียญ ก็อาจจะมี stock gain เข้ามา offset ค่าการกลั่นนิดหน่อยได้ในไตรมาส 4 ทั้งไตรมาสก็น่าจะกลั่นเฉลี่ย 1.13-1.15 แสนบาร์เรล/วัน...ส่วนจะลดปริมาณการกลั่นต่อเนื่องในปีหน้าหรือไม่ เราต้องดูหลายด้าน สุดท้ายขึ้นกับตลาดด้วย เป็นสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ค่าการกลั่นที่ปรับตัวอยู่ในระดับต่ำช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันโรงกลั่นในภูมิภาคก็หันมาแย่งซื้อน้ำมันในย่านนี้ ขณะที่ปริมาณการผลิตเท่าเดิมทำให้ราคาน้ำมันดิบมีพรีเมียมค่อนข้างสูง ประกอบกับเข้าใกล้ช่วงที่จะบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% แต่ราคาน้ำมันดีเซลก็ไม่ได้เพิ่มสูง ขณะที่ราคาน้ำมันเตาที่กำมะถันสูงปรับลดลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ภาพรวมของทิศทางค่าการกลั่นยังมีความผันผวนอยู่สูงมาก

ส่วนการที่กระทรวงพลังงานมีแผนจะปรับสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นนั้น เห็นว่าต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าการกลั่นที่อยู่ระดับ 2-3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือราว 60 สตางค์/ลิตร ก็นับว่าค่อนข้างต่ำมาก ขณะเดียวกันโรงกลั่นของไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงในสิงคโปร์ รวมถึงไทยยังมีการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline Base :G-Base) บางส่วนเพราะการผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาประกอบควบคู่กันไปด้วย

"ค่าการกลั่นอยู่ 2-3 เหรียญบวกลบ แปลงเป็นบาทประมาณ 60 สตางค์/ลิตร เป็นอะไรที่ค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้ว อันที่สองผลิตภัณฑ์ของเรามีมาตรฐานสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ quote ในสิงคโปร์ เราไม่ได้ดูเรื่องกำมะถันอย่างเดียว เราดูสารก่อมะเร็งอีกหลาย ๆ ตัวที่เราควบคุม ชื่อข้างหน้าคือ ยูโร 4 แต่จริง ๆ แล้วสารก่อมะเร็งต่าง ๆ 3-4 ตัวมาตรฐานเราสูงกว่าสิงคโปร์ค่อนข้างเยอะ สุดท้ายคือ โดยเฉพาะ G-Base ไทยผลิตไม่พอ ต้องมีการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าต้องนำเข้าที่ราคาสิงคโปร์ ขนเข้ามาไทย และต้องมีการจ่ายค่าประกัน จะทำอย่างไรกับราคาหน้าโรงกลั่นและราคาที่นำเข้า ซึ่งมี 2 ราคา มัน complicate พอสมควร"นายชัยวัฒน์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ระบุว่าคณะทำงานฯ ได้พิจารณาการปรับสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น โดยได้นำข้อมูลทางเทคนิคในส่วนค่าพรีเมียมมาหารือ เบื้องต้นเห็นพ้องที่จะยกเลิกค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันสิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยุโรประดับ 3 (ยูโร 3) มาเป็นมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันของไทย ดังนั้น โรงกลั่นไม่ควรคิดค่าปรับปรุงคุณภาพดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนการปรับสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นภาพรวมนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำกลับไปหารือกับผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ