ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บล.บัวหลวง ที่ "AA" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 27, 2019 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรระดับ "AA" ของ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (BLS) ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต "BBB+/Stable" จาก S&P Global Ratings ) ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักทรัพย์ โครงสร้างรายได้ที่มีการกระจายตัว ผลประกอบการที่เข้มแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสหากรรม การได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่จำกัด และฐานเงินทุนที่แข็งแรงและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ

บริษัทได้รับการพิจารณาว่าเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ โดยนอกจากธนาคารกรุงเทพจะถือหุ้น 99.9% ในบริษัทแล้วนั้น บริษัทยังทำหน้าที่เป็นเครือข่ายทางด้านตลาดทุนของธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่ลูกค้า ในขณะเดียวกันบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากเครือข่ายและฐานลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ และส่งเสริมให้มีการแนะนำลูกค้าระหว่างกันอีกด้วย ตัวอย่างเช่น 54% ของบัญชีที่เปิดใหม่ของบริษัทเกิดจากการแนะนำลูกค้าจากธนาคาร โดยนอกจากความช่วยเหลือทางด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อซึ่งช่วยเสริมสถานะทางการเงินของบริษัทอีกด้วย

การรักษาสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งในธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์และความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทยังหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีพร้อมทั้งยังช่วยรักษาและขยายฐานลูกค้าอีกด้วย

บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ด้วยส่วนแบ่ง 7.2% โดยฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวของบริษัทส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยไว้ได้ที่ 0.15% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสหากรรมที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 0.09% อีกทั้งบริษัทยังมีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (TFEX) เป็นอันดับ 3 ด้วยส่วนแบ่ง 7.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 39.7% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 และเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โครงสร้างรายได้ที่กระจายตัว

บริษัทยังคงรักษาโครงสร้างรายได้ที่กระจายตัวไว้ได้ โดยการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ในระดับปานกลางนั้นทำให้รายได้ของบริษัทอ่อนไหวน้อยลงต่อความผันผวนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดและอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง6 เดือนแรกของปี 2562 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ของบริษัทคิดเป็น 56.8% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการและกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์คิดเป็น 7.5% และ 12.3% ของรายได้รวมของบริษัทตามลำดับ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างรายได้จากธุรกิจนายหน้าพร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้จากธุรกิจส่วนอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของนักลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมา

การกระจายตัวของรายได้และการควบคุมค่าใช้จ่ายช่วยผลักดันผลประกอบการท่ามกลางอุตสาหกรรมที่อ่อนตัวลง ด้วยโครงสร้างค่าใช้จ่ายของบริษัทในปัจจุบันและความสามารถในการสร้างรายได้ที่เข้มแข็งในหลากหลายธุรกิจของบริษัทซึ่งช่วยลดผลกระทบจากรายได้ค่านายหน้าจากซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสหากรรมไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากทั้งมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดโดยเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง 24% มาอยู่ที่ 49,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้วและจากทั้งอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมของบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสหากรรมปรับตัวลดลงประมาณ 68% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยบริษัทมีกำไรสุทธิที่ลดลงเช่นเดียวกันโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรม โดยลดลงประมาณ 48% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมาอยู่ที่ 330 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสหากรรม บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ 54.0% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสหากรรมที่ 72.2% ส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยแบบปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วไว้ได้ที่ 4.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสหากรรมที่ 1.6%

ผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่จำกัด

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุมซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทเกิดการขาดทุนจากเงินลงทุนของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่จำกัดเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนที่จำกัดเพียงการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทมีการติดตามดูแลสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างใกล้ชิดและมีเกณฑ์สำหรับหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และมีการพิจาณาสินเชื่อที่เข้มงวด โดยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดเท่ากับ 5.0% ของสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในระบบหรือ 0.3 เท่าของส่วนของเจ้าของของบริษัท บริษัทไม่มีหนี้สูญเพิ่มเติมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 และมีต้นทุนทางเครดิตเท่ากับ 0.0% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ฐานทุนที่เข้มแข็งและสภาพคล่องที่เพียงพอ

ฐานทุนที่เข้มแข็งของบริษัทเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่ออันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทยังคงมีส่วนของเจ้าของที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมที่ 8.6 พันล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับปรุงแล้วซึ่งเป็นตัวชี้วัดโครงสร้างเงินทุนที่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 71.0% เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 52.4% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าฐานทุนขนาดใหญ่ของบริษัทนี้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ในเงินลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 148% ณ สิ้นปี 2561 เทียบกับค่าเฉลี่ยของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ 40%-70%

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและครอบคลุมความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง โดยบริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสดและเงินลงทุน) ต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 54.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสหากรรมที่ 40.9% นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ด้วยวงเงินส่วนใหญ่จากธนาคารกรุงเทพซึ่งช่วยเสริมสถานะทางการเงินของบริษัทอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2562-2565 ดังต่อไปนี้

อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.15%

รายได้รวมเติบโตประมาณ 2%-3% ต่อปี

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ระหว่าง 50%-53%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มธนาคารกรุงเทพและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้หากสถานะด้านเครดิตของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ หรือระดับที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพเปลี่ยนแปลงไป หรือสถานะในการเป็นบริษัทย่อยของบริษัทต่อกลุ่มธนาคารกรุงเทพเมื่อเทียบกับบริษัทย่อยอื่น ๆ ของธนาคารกรุงเทพนั้นเปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ