(เพิ่มเติม) กฟผ. จับมือ BGRIM คิกออฟโซลาร์ลอยน้ำไฮบริด 45 MW ใหญ่สุดในโลก คาด COD ภายใน ธ.ค.63

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 20, 2020 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) กฟผ. จับมือ BGRIM คิกออฟโซลาร์ลอยน้ำไฮบริด 45 MW ใหญ่สุดในโลก คาด COD ภายใน ธ.ค.63

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม.เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทลงนามในสัญญาจัดซื้อและจัดจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ B.Grimm Power-Energy China Consortium

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ประกาศประกวดราคางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการ Hybrid Hydro-Floating Solar ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ. ได้อนุมัติให้ กิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์-เอ็นเนอร์จี้ ไชน่า (B.Grimm Power-Energy China Consortium) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบส่วนงานดำเนินโครงการภายในประเทศให้แก่ กฟผ. และ กฟผ. ได้ออกหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ให้แก่ B.Grimm Power - Energy China Consortium แล้ว

โครงการดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยที่ลดข้อจำกัดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ สอดรับกับนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลตามแผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน (PDP2018) และช่วยให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน(Energy Management System หรือ EMS) มาบริหารจัดการพลังงานทั้งสองประเภท ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้า โดยในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับโครงการเพื่อสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานประเทศไทย

สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูก ภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือน ธ.ค.63

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BGRIM เปิดเผยว่า หลังจากนี้การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศของกลุ่มบริษัทก็จะเป็นการจับมือเป็นพันธมิตรกับเอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ซึ่งเป็นพันธมิตรระดับโลกที่มีความแข็งแกร่งเข้าไปร่วมประมูล โดยการที่บริษัทและพันธมิตรได้รับคัดเลือกก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรครั้งนี้ แม้จะประมูลได้ราคาต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ก็ยังสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 12%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ