"ซีวิลเอนจีเนียริง"คาดยื่นไฟลิ่งใน มี.ค.เตรียมเสนอขาย IPO และเข้าเทรด SET ปลายปี 63 ระดมเงินทุนซื้อเครื่องจักร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 22, 2020 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.บัวหลวง คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงเดือนมี.ค.นี้

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะกระบวนการเสนอขาย IPO และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จะเกิดขึ้นภายในช่วงปลายปี 63 แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดหุ้นในช่วงนั้นด้วย

วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อเครื่องจักร พัฒนาประสิทธิภาพในการรับงาน และสามารถรับงานได้มากขึ้น การลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงกว่าปัจจุบันที่ 5% และสามารถเข้าถึงช่องทางของแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทในปี 63 ตั้งเป้ารายได้แตะ 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 3.5 พันล้านบาท โดยการเติบโตจะได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งมอบงานโครงการของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จากปีก่อนมีงานบางส่วนเลื่อนการส่งมอบมา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้รายได้ในปี 62 ลดลงราว 10% จากปี 61

ในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (Backlog) เข้ามากว่า 4 พันล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โดย Backlog ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันจะทยอยรับรู้ไปถึงปี 67 เฉลี่ยปีละ 4 พันล้านบาท

สำหรับสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ 90-95% มาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานภาครัฐเกือบทั้งหมดที่บริษัทสามารถประมูลมาได้ ประกอบกับยังมีรายได้จากอีก 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง ที่บริษัทได้สัมปทานเหมืองหิน และขายวัสดุให้กับผู้ผลิตรายอื่น และมีอาคารสำนักงานของบริษัทย่านวัดเสมียนนารีที่ปล่อยเช่าพื้นที่บางส่วน

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวว่า แม้ว่างานรับเหมาก่อสร้างของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นงานของภาครัฐ แต่บริษัทได้เริ่มขยายการรับงานของภาคเอกชนมากขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับการรับงานใหม่ๆ ของบริษัท เพื่อกระจายความเสี่ยง หากปริมาณงานของภาครัฐมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทมองว่าการลงทุนของภาคเอกชนยังคงมีงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการในอนาคต

บริษัทจะเข้าไปรับงานในส่วนที่มีความถนัด ซึ่งงานรับเหมาภาคเอกชนที่บริษัทสนใจ ได้แก่ งานก่อสร่างทางลอดถนนบ่อนไก่เชื่อมทางด่วน ของโครงการ One Bangkok งานโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ของกิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย BTS GULF STEC และ RATCH รวมถึงงานก่อสร้างระน่ำและระบายน้ำของโครงการ The Forestier ของ MQDC ซึ่งจะเข้ามาเสริมงานกลุ่มธุรกิจรับเหมาในอนาคต

ขณะที่บริษัทก็ยังเดินหน้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างโครงการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้ที่บริษัทมองว่าปริมาณงานจะออกมามากขึ้น หลังจากเกิดการชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากงบประมาณปี 63 มีความล่าช้า แต่หลังจากงบประมาณมีความชัดเจนแล้วก็เป็นสัญญาณที่ดีให้กับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่จะมีงานออกมาประมูลมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง เห็นการตัดราคามากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการรับเหมางานนั้นๆมาไม่สูงมาก โดยเฉพาะงานภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทุกรายต้องมาพิจารณาด้านต้นทุนอย่างรอบคอบ และนำเทคโนมาช่วยในการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพและใช้ระยะเวลาการก่อสร้างที่เร็ว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดในงานนั้นๆที่ได้มา

ด้านงานรับเหมาก่อสร้างให้กับโครงการภาครัฐที่บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร,โครงการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วง สีคิ้ว –กุดจิก และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร

โครงการนี้บริษัทได้รับงานก่อสร้างรวม 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 16 และ สัญญา 29, 30 และ 31 บริเวณเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อก่อสร้างทางยกระดับมอเตอร์เวย์ ขนาด 4 เลน ปัจจุบันได้ส่งมอบงานก่อสร้างในสัญญาที่ 29, 30 และ 31 ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน จากสัญญาที่ระบุไว้ 3 ปี หรือ เร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือน แม้พื้นที่ก่อสร้างจุดนี้ มีความท้าทายด้านงานวิศวกรรมโยธา เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างเป็นชั้นหิน แนวเส้นทางบางช่วงเป็นเหวลึกและพาดผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำใต้ดิน ซึ่งบริษัทได้ใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาผนวกกับการบริหารจัดการที่ดี จึงสามารถส่งมอบงานให้แก่กรมทางหลวงได้ก่อนกำหนด

"การก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช เป็นอีกโครงการที่เราภาคภูมิใจในการเข้าร่วมพัฒนา แม้พื้นที่ดำเนินการก่อสร้างภายใต้ความรับผิดชอบของเราเป็นจุดที่ยากที่สุดของโครงการนี้ แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเราก็ทำสำเร็จด้วยการส่งมอบงานได้เร็วกว่ากำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปสู่ภาคอีสานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"นายปิยะดิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วนที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดย กรมทางหลวง เปิดให้ภาคเอกชนร่วม ลงทุนในกิจการรัฐ (PPP Fast Track) เพื่อผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมและแก้ไขปัญหาการจราจรในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และยังมีงานที่บริษัทได้งานมาแล้วและอยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญาอีก 2 งาน คือ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 4-7 มูลค่า 8.5 พันล้านบาท และงานก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 ตอนที่ 1 มูลค่า 6 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ