TPIPP คาดกำไรปี 63 ทำนิวไฮจากประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าดีขึ้น-ขาย RDF เพิ่ม พร้อมจัดงบ 8 พันลบ.เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 23, 2020 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TPIPP คาดกำไรปี 63 ทำนิวไฮจากประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าดีขึ้น-ขาย RDF เพิ่ม พร้อมจัดงบ 8 พันลบ.เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิปี 63 มีโอกาสจะทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปี 62 ตามเป้าหมายรายได้รวมที่คาดว่าจะเติบโตมาที่ 1.3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่คาดว่าทำได้ราว 1.05 หมื่นล้านบาท แม้ในปีนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบหลังจากบริษัทเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในพอร์ตครบทั้งหมด 440 เมกะวัตต์ (MW) แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา แต่การปรับปรุงประสิทธิภาพของหม้อไอน้ำ (Boiler) และสร้าง Boiler เพิ่มเติมที่แล้วเสร็จ ทำให้สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)

การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาระดับ 81% ในช่วงไตรมาส 4/62 จากทั้งปี 61 ที่ทำได้เพียง 75% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 95% ในปี 63 ส่งผลให้รายได้จากการขายไฟฟ้าในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน และเมื่อรวมกับรายได้จากสถานีบริการน้ำมันและก๊าซฯ ที่มีอยู่ 3 แห่งเพื่อจำหน่ายให้กับระบบส่งของโรงงานปูนซีเมนต์ในกลุ่ม บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่จะมีเข้ามาปกติราว 700-800 ล้านบาท/ปี และรายได้จากการขายจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ก็จะผลักดันให้รายได้รวมเติบโตได้ตามเป้าหมายดังกล่าว

ขณะเดียวกัน การหันมาสร้างโรงงาน RDF เพิ่มขึ้นจนทำให้ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง ใน จ.สระบุรี , สมุทรสาคร , พระนครศรีอยุธยา ,ชลบุรี , นครราชสีมา และ ปทุมธานี ทำให้สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้อย่างน้อย 20% จากเดิมที่รับซื้อ RDF ซึ่งมีต้นทุนสูงถึง 1,200-1,300 บาท/ตัน ในสัดส่วนกว่า 60% ก็จะลดลงเหลือการรับซื้อราว 20% ส่วนที่เหลือ 40% มาจากโรงงานของบริษัท ขณะที่เชื้อเพลิงที่เหลืออีกส่วนน้อยจะมาจากขยะชุมชน

"ปี 63 กำลังผลิตยังเท่าเดิม เป็นการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.และ โรงปูน ไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มผลิตเราก็โตขึ้นทุกไตรมาส ไม่มีไตรมาสไหนลดลงเลย เราก็ยังมั่นใจไตรมาส 4 ที่เป็นนิวไฮ ไตรมาส 1 ปีนี้ก็มั่นใจว่านิวไฮทั้งรายได้และกำไร จากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นและการลดต้นทุนเชื้อเพลิง...กำไรทั้งปี 63 ก็น่าจะทำนิวไฮ จากรายได้ขายไฟโตไม่ต่ำกว่า 15%"นายวรวิทย์ กล่าว

อนึ่ง TPIPP ยังไม่ได้รายงานผลประกอบการในปี 62 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.33 พันล้านบาท และมีรายได้รวม 7.94 พันล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 61 มีกำไรสุทธิ 3.7 พันล้ายบาท และมีรายได้รวม 7.92 พันล้านบาท

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ปี 63 บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิต RDF อย่างน้อย 2 แห่ง ในนครปฐมและ ลพบุรี ใช้เงินลงทนราว 200 ล้านบาท/แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 63 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิต RDF เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่เกือบ 4,000 ตัน/วัน โดยส่วนใหญ่ราว 2,600 ตัน/วัน จะส่งให้กับโรงไฟฟ้าขยะ และเตรียมจะป้อน RDF ให้กับโรงปูนของ TPIPL ราว 1,200 ตัน/วัน ซึ่งจะเริ่มในช่วงกลางปี 63 โดยคาดว่าการขาย RDF ให้กับโรงปูนจะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทราว 1 พันล้านบาท/ปี และในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขาย RDF ให้กับโรงปูนต่าง ๆ เพิ่มเติม เพราะปัจจุบันโรงปูนหลายแห่งหันมาใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินบางส่วนแล้ว เนื่องจากมีราคาถูกกว่าถ่านหินราว 25% ที่ค่าความร้อนระดับเท่ากัน

สำหรับปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 8 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่ประมาณ 6 พันล้านบาทจะใช้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าจะมีเข้ามา 2 โครงการ กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ส่วนที่เหลืออีก 2 พันล้านบาท รองรับการขยายกำลังการผลิตโรงงาน RDF และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างมองหาการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง โดยมีการพิจารณาใน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2558-2579 (PDP2015) ที่มีโควตารับซื้อ 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ส่วนอีกกว่า 100 เมกะวัตต์ยังไม่ได้ COD ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็จะเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปเจรจาซื้อ PPA หรือร่วมลงทุนในส่วนนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา 3-4 ราย กำลังการผลิตรายละ 9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายไตรมาส 1/63

ส่วนที่สองเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผน PDP2015 โควตารับซื้อ 500 เมกะวัตต์ดังกล่าวที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีโควตาการขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน ก็คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในปีนี้ หลังจากที่ล่าช้าเพราะรอการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้คาดว่าอาจจะมีการเปิดประมูลแข่งขันโรงไฟฟ้าออกมาก่อน ซึ่งบริษัทให้ความสนใจในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.สงขลา

ส่วนที่สามเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่มีโควตารับซื้อเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์นั้น แม้ขณะนี้กกพ.จะยังไม่ได้ประกาศรับซื้ออย่างเป็นทางการ แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลัก ก็เริ่มมีการกระบวนการเตรียมการแล้ว เบื้องต้นทราบว่ามีองค์กรปกครองท้องถิ่นไปยื่นเสนอโครงการต่อกระทรวงมหาดไทยแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ รวมถึงในส่วนของบริษัทที่ได้เจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นอยู่ 3 แห่ง กำลังการผลิตราว 10 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ก็ได้ยื่นข้อเสนอไปด้วยเช่นกัน และก็ยังมีโอกาสที่จะเจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

"เรื่องของโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้ใหม่ 2 โครงการในปีนี้ มาจาก 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือประมูล ,ซื้อ และเตรียมประมูล 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเราคาดว่าจะได้ส่วนที่จะเปิดประมูล"นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนงานในอนาคตบริษัทยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศมากกว่าต่างประเทศที่มีการแข่งขันสูงและบางแห่งเงื่อนไขการลงทุนไม่น่าสนใจมากนัก อีกทั้งในประเทศก็ยังมีศักยภาพของโรงไฟฟ้าขยะค่อนข้างสูง นอกเหนือจากโควตารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนตามแผน PDP รวม 900 เมกะวัตต์แล้ว รัฐบาลก็ยังมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งตามแผนศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายว่าในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 100 เมกะวัตต์

บริษัทก็ให้ความสนใจในพื้นที่จ.ชลบุรี ที่มีปริมาณขยะค่อนข้างมากและน่าจะมีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึง 60 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นได้เข้าไปเจรจากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีแล้ว แม้ปัจจุบันทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ EEC จะยังไม่มีแผนงานชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าการดำเนินการจะไม่ล่าช้าเพราะเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลเร่งส่งเสริม ปัจจุบันขยะในพื้นที่ EEC มีราว 3,000 ตัน/วันเท่านั้น แต่หากมีการขยายตามแผนภายใน 7 ปีมีโอกาสที่ปริมาณขยะจะมากถึงราว 12,000 ตัน/วัน รองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้ถึง 200 เมกะวัตต์

รวมทั้งรัฐบาลยังมีแผนจะผลักดันโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อมุ่งส่งเสริมเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ หวังสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้ โดยทางศอ.บต.ได้เชิญบริษัทที่มีศักยภาพของประเทศเข้าไปร่วมหารือ ซึ่งกลุ่มบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีความพร้อมด้านที่ดิน โดยให้ความสนใจในส่วนของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ท่าเรือ และปิโตรเคมี แต่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่กลุ่มบริษัทก็มีความพร้อมและเข้าไปศึกษาการลงทุนบ้างแล้ว

ส่วนกรณีที่กลุ่มชาวบ้านในอ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ร่วมกันเข้าชื่อยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง โดยเป็นการฟ้อง กกพ.กับพวก กรณีกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อการอนุญาตให้บริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่ม COD เมื่อต้นปี 62 พร้อมขอให้ศาลฯมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าดังกล่าวไว้ก่อนนั้น ขณะนี้ศาลฯ ยังไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ ออกมา แต่เบื้องต้นเคยมีการฟ้องร้องในกรณีใกล้เคียงกัน ทำให้เชื่อว่าน่าจะยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนที่จะทำให้มีคำสั่งระงับการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อร่วมแก้ปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ