LPN วางแผนปี 63 เปิด 10 โครงการใหม่ราว 1.2-1.3 หมื่นลบ.ปรับกลยุทธเน้นทำเลรอง-ขยายรายได้ประจำรับความท้าทายอสังหาฯยังชะลอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 27, 2020 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เปิดเผยว่า แผนงานในปีนี้บริษัทจะเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 4 โครงการ มูลค่า 5 พันล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม 6 โครการ มูลค่ารวม 7-8 พันล้านบาท

สำหรับโครงการบ้านเดี่ยว ในปีนี้จะเปิดตัวบ้านแฝดที่ให้อารมณ์บ้านเดี่ยวในระดับราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค่าที่ต้องการบ้านพักอาศัยในเมือง โดยในครึ่งปีแรกจะเปิดตัวโครงการแนวราบทั้งหมดในทำเลเมืองทองธานี สุขุมวิท 113 ลาดกระบัง และพหลโยธิน 4/1

ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมจะเน้นการออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งยังมีกำลังซื้ออยู่ในตลาด และเป็นกลุ่มที่ยังมีความสามารถในการซื้อคอนโดมิเนียม และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

โดยคอนโดมิเนียมที่จะเปิดตัวในปีนี้ 6 โครงการ ได้แก่ เตาปูน ราคาขายเฉลี่ย 50,000 บาท/ตารางเมตร จรัญสนิทวงศ์ 65 ราคาขายเฉลี่ย 70,000 บาท/ตารางเมตร ถนนนราธิวาส ราคาขายเฉลี่ย 130,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งเป็นโครงการมิกซยูส คอนโดมิเนียมกับออฟฟิศ แจ้งวัฒนะ 17 ราคาขายเฉลี่ย 70,000 บาท/ตารางเมตร และโครงการคอนโดมิเนียม Lowrise ย่านเอกชัย 2 เฟส รวม 2,000 ยูนิต เฟสแรกราคาต่ำกว่ายูนิตละ 1 ล้านบาท และเฟส 2 ราคายูนิตละ 1 ล้านต้น

"ปีนี้เราให้ความสำคัญกับโครงการในแนวราบที่ยังมีกำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้ายอดขายแนวราบในปี 63 เติบโตไม่น้อยกว่า 20% เทียบกับปี 62 โดยมีแผนเปิดตัว "บ้านแฝด" ที่ให้อารมณ์บ้านเดี่ยวในเมืองในระดับราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบ้านพักอาศัยในเมือง ในส่วนของคอนโดมิเนียม เราเน้นคอนโดมิเนียมที่ออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์กับทุกความต้องการของลูกค้า ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในตลาด และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ LTV มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยประมาณว่ายอดขายคอนโดมิเนียมในปี 63 จะเติบโตมากกว่ายอดขายของปี 62"นายโอภาส กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 63 เติบโต 30% มาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 7 พันล้านบาท ขณะที่รายได้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนโดยจะรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอนที่มีอยู่กว่า 7 พันล้านบาทเข้ามาเกือบทั้งหมด อีกทั้งบริษัทยังตั้งเป้ารายได้จากค่าเช่าในปีนี้ไว้ที่ 200-300 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจบริหารจัดการคอนโดมิเนียม 700 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ส่วนถือเป็นรายได้ประจำ (Recurring Income) ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของรายได้

และคาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มรายได้ประจำให้เพิ่มเป็น 20-30% ซึ่งจะมาจากโครงการอาคารสำนักงานที่ร่วมทุนกับนายณ์เอสเตท บนถนนพระราม 4 พื้นที่รวม 22,600 ตารางดมตร ที่จะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี 65 ซึ่งจะสร้างรายได้เข้ามา 200-300 ล้านบาท/ปี ทำให้มีรายได้ประจโเพิ่มเข้ามา พร้อมกับการเข้าไปรับบริหารคอนโดมิเนียมโครงการอื่นๆ นอกเครือ LPN ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มเป็น 150 โครงการ จากปัจจุบันกว่า 30 โครงการ

นายโอภาส กล่าวว่า บริษัทตั้งงบซื้อที่ดินในปีนี้ตั้งไว้ที่ 4 พันล้านบาท โดยใช้กลยุทธ์ "เข้าซอย" เน้นทำเลในซอยแต่ไม่ไกลจากถนนใหญ่หรือแนวรถไฟฟ้ามากนัก เพื่อให้ต้นทุนในการซื้อที่ดินในการพัฒนาโครงการมีระดับราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับที่ดินติดถนนใหญ่ โดยบางทำเลอาจมีต้นทุนที่ดินถูกกว่าที่ดินติดถนนใหญ่ถึง 50% ทำให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดและตอบโจทย์กับกำลังซื้อและความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน ซึ่งบริษัทจะเลือกที่ดินในซอยไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากถนนใหญ่

นายโอภาส กล่าวอีกว่า ในปี 63 เป็นปีแห่งความท้าทายในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับภาวะชะลอตัว จากสภาพเศรษฐกิจและมาตรการกำกับดูแลของ ธปท.ที่ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การขยายฐานรายได้ประจำ (Recurring Income) จากธุรกิจบริการ ทั้งการบริหารจัดการอาคาร การก่อสร้าง งานที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัให้ดีขึ้น

โดยที่การบริหารประสิทธิภาพการทำกำไรของบริษัทจะให้ความสำคัญกับการบาหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เช่า การนำคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จมาปล่อยเช่า เพื่อสร้างรายได้ประจำจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ รวมทั้งการเร่งขายและโอนโครงกาบที่สร้างเสร็จมูลค่ารวมราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งคาดหวัดจะระบายออกไปได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าที่มีอยู่

การขยายฐานรายได้ประจำ (Recurring Income) จากธุรกิจบริการ ทั้งการบริหารจัดการอาคาร การก่อสร้าง งานที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนา ผ่านบริษัทในเครืออย่างบริษัท ลุมพ์นี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งได้ขยายฐานลูกค้าจากธุรกิจบริการทั้งในส่วนของการบริหารอาคารโครงการและงานบริการด้านวิศวกรรมจากที่ให้บริการเฉพาะในส่วนของ LPN ไปสู่ตลาดภายนอก เพื่อขยายฐานรายได้ของธุรกิจในกลุ่มนี้ โดยตั้งเป้ารายได้ในส่วนนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 20% ในปี 63

ปัจจุบันตลาดบริหารจัดการอาคารทั้งคอนโดมิเนียมและสำนักงานยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ในปี 62 และมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ซึ่งเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวที่จะมีสัดส่วนรายได้เติบโตขึ้นเป็น 10% ในปี 63

"ปีนี้เป็นปีที่เรามุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยให้ความสำคัญในสามประเด็นหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ขยายฐานรายได้ประจำ (Recurring Income) จากธุรกิจบริการ ทั้งการบริหารจัดการอาคาร การก่อสร้าง งานที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทให้ดีขึ้น ถึงแม้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวโดยประมาณว่าจะยังคงติดลบร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 62 ตามทิศทางของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 2.5 – 3.0 ในปี 63"นายโอภาส กล่าว

ด้านการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทมีนโยบายในการบริหารสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 1 เท่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทยังต้องบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนดอกเบี้ยอยู่ในสัดส่วนต่ำกว่า 3% ต่อปี ลดลงจาก 4% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากอันดับเครดิตเรตติ้งของบริษัทที่ A- จากทริสเรสติ้ง

นายโอภาส เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในช่วงกลางปีนี้มูลค่า 1 พันล้านบาท อายุ 3 ปี เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องรองรับโอกาสการลงทุนของบริษัท ทำให้มีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ประกอบกับทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลงเหลือ 2% จากปีก่อนที่ 3% เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันการเงิน แต่บริษัทก็ยังคงมีการกู้เงินจากสถานบันการเงินประกอบไปด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีหนี้สิน 7 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมสถานบันการเงิน 4 พันล้านบาท และเงินจากการออกหุ้นกู้ 3 พันล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 62 ยอมรับว่ารายได้และยอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ จากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ดี ทำให้การขายและการโอนเกิดการชะลอตัว แต่ในด้านของกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่บริษัทพอใจจากการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆของบริษัทที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"เราสามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 62 ได้ดีกว่าปี 2561 ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว เป็นผลจากการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60-62 และปี 63 เป็น "ปีแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน" (Year of Proficiency) ที่เราจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ" นายโอภาส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ