THAI เชื่อปีนี้พลิกเป็นกำไรแม้ต้นปีเจอปัญหาอ่วม เน้นลดค่าใช้จ่าย-คาดรายได้ทรงตัว,เตรียมลุยฟ้องโรลส์รอยส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 27, 2020 19:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เชื่อว่าผลงานในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไร ภายใต้คาดการณ์รายได้น่าจะใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีรายได้ 1.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยจะเน้นการทำตลาดเอเชียเหนือและยุโรป ขณะที่เดินหน้าแผนปรับลดค่าใช้จ่ายในปีนี้อย่างน้อย 3-4 พันล้านบาท โดยเฉพาะลดค่าใช้จ่ายจากการจ้าง Outsource กว่า 10,000 คนให้ลดลง 10% ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนการให้บริการ อาทิ บริการภาคพื้น หรือการสั่งสินค้าให้มีปริมาณที่เหมาะสม

"ได้หารือกับบริษัที่เป็น Outsorce แล้ว ซึ่งให้ความร่วมมือและพร้อมสามารถลดได้ถึง 15% แต่ทั้งนี้หลายสัญญาที่ยังไม่หมดอายุสัญญาก็ยังไม่สามารถปรับลดได้...เบื้องต้นได้ขอลดมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างต่ำลง 10% ต้องไม่กระทบความปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดผลกระทบความพึงพอใจผู้โดยสาร จะช่วยได้ 3-4 พันล้านบาท เป็นอย่างน้อย สัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะหักสัญญากลางทางไม่ได้ ต้องรอรอบหมดอายุ" นายสุเมธ กล่าวภายหลัง รมช.คมนาคม ตรวจเยี่ยมบริษัท

อนึ่ง THAI แจ้งผลประกอบการล่าสุดงวด 9 เดือนแรกของปี 62 มีผลขาดทุน 1.11 หมื่นล้านบาท

นายสุเมธ กล่าวว่า สถานการณ์ปีนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะยากลำบาก ตั้งแต่ต้นปี 63 การบินไทยผ่านสถานการณ์มา 3 เรื่องแล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ความไม่สงบตะวันออกกลางจากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน แต่ก็จบได้เร็ว ถัดมาเป็นกรณีที่เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ER ของบริษัทเกิดระเบิดก่อนบินขึ้นครั้งหลังสุดเกิดกับเที่ยวบินที่จะบินไปภูเก็ต ซึ่งภายหลังจากนั้นสำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) สั่งให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ GE 90115B ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ดังกล่าวที่ใช้กับเครื่องบินทั้ง 10 ลำ

และล่าสุดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรน่าจากจีน ยอมรับว่าได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากบริษัทมีเส้นทางบินไปจีนไม่มาก ผลกระทบจึงมีไม่มากนัก และในวันพรุ่งนี้จะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนเครื่องบินและอบเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทำให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจ และเตรียมพร้อมป้องก้นการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ถือว่าเป็นไฮซีซั่น จึงคาดว่าในเดือน ก.พ.-มี.ค.น่าจะกลับมาดีขึ้นได้ โดยในเดือน ม.ค.63 มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)ที่ 80% จึงคาดว่าทั้งปี 63 Cabin Factor ไม่น่าจะต่ำกว่า 80% และไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 80%

"สิ่งที่เป็นความเสี่ยงปีที่ผ่านมา เราก็ยังอยู่ในสงครามราคา ปีนี้การบินไทยเราคงมุ่งมั่นพื้นที่เส้นทางเอเชียเหนือและยุโรป ต้นปีที่ผ่านมาเราเจอ 3 เหตุการณ์ เรื่องอิหร่าน-อเมริกา เรื่องเครื่องยนต์ระเบิด และ เรื่องที่ 3 ไวรัสโคโรน่า"นายสุเมธ กล่าว

นอกจากนี้ การบินไทยได้เช่าเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 3 ลำ อายุเช่า 10 ปีเพื่อรองรับเส้นทางยุโรป โดยจะรับมอบในปลายปี 63 จำนวน 2 ลำ และอีก 1 ลำในปี 64

ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทยจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายกับ Rolls Royce โดยจะฟ้องศาลในอังกฤษ จากกรณีที่เครื่องบินหยุดทำการบินจากเครื่องยนต์มีปัญหาและต้องจอดรออะไหล่เป็นเวลานาน ส่งผลให้เครื่องบิน 15 ลำที่บินไปในเส้นทางยุโรปไม่สามารถทำการบินได้ ทำให้บริษัทขาดรายได้ แม้จะไม่อยู่ในสัญญาซึ่งก็ต้องพิสูจน์ โดยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะเดินทางไปอังกฤษเพื่อหารือกับที่ปรึกษากฎหมายว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไร

นายสุเมธ กล่าวเสริมว่า การเรียกร้องค่าเสียหายทำอย่างเต็มที่ โดยการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องตามสัญญาซ่อมบำรุง แต่บริษัทเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือสัญญา เพราะเห็นว่าเครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้หากไม่มีเครื่องยนต์ ขณะที่ทาง Rolls Royce ต้องการจ่ายแค่ตามสัญญาเท่านั้น

รมช.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทยก็ยังดำเนินการเพิ่มรายได้เข้ามาด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่า การบินไทย อยู่ระหว่ำงรออนุมัติ Strategy Map 2020 ที่จะมี การดำเนินการเป็นไปอย่ำงต่อเนื่องตามแผน มีรายได้เสริม ม.ค. – ธ.ค. 63 จำนวน 7,200 ล้านบาท อาทิ Online Shopping

สำหรับการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ นายสุเมธกล่าวว่าจะสรุปการจัดหาเครื่องบินได้ในเดือนมี.ค.63 โดยจะมีจำนวนเครื่งอนิที่จัดหา วิธีการจัดหา เช่น ซ้อ หรือเช่า แหล่งเงินทุนที่ต้องใช้ จากนั้นจะนำส่งกระทรวงคมนาคมต่อไป

รายงานข่าวจาก THAI เปิดผยว่า การดำเนินการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายกับ Rolls Royce บริษัทได้แต่งตั้งคณะทำงานเจรจาค่าเสียหายกับบริษัท Roll-Royce และได้คำนวณค่ำเสียหาย นับจากวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 312,285,931 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราว 1 หมื่นล้านบาท

การเจรจาก่อนหน้านี้รวมทั้งสิ้น 6 ครั้งในที่สุดบริษัท Rolls Royce เสนอชดใช้ค่าเสียหำยให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 58,396,000 เหรีญสหรัฐ หรือ 1,825,050,188 บาท จนถึงการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 Rolls Royce ยังคงเสนอชดใช้ชำระค่ำเสียหายตามเดิม ซึ่งนายสุเมธได้หารือกับฝ่ำยบริหารแล้วเห็นว่าไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงมีจดหมายแจ้งแก่ Rolls Royce เมื่อวันที่ 21 ต.ค.62 ว่ำบริษัทจะดำเนินการตำมขั้นตอนของกฎหมายกับ Rolls Royce ต่อไป โดยคาดว่าจะออกจดหมายบอกกล่าวภายในเดือนมี.ค.63 หรืออย่ำงช้าในเดือนเม.ย.63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ