โบรกฯเชียร์"ซื้อ"หุ้น KBANK มองราคามี Upside สูง-คาดตั้งสำรองฯลดลงปีนี้ พร้อมลุ้นจ่ายปันผลสูงขึ้น-ซื้อคืนหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 28, 2020 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ เห็นพ้องเชียร์"ซื้อ"หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จาก Upside สูงหลังราคาปรับลดลงมามากแล้ว ขณะที่แนวโน้มผลงานปีนี้ทรงตัวถึงใกล้เคียงปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางไม่ดีนัก ด้านสินเชื่อยังเติบโตตามเป้าของธนาคารที่ 4-6% ในปีนี้ ส่วนแนวโน้ม NPL มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากการเก็บพอร์ตหนี้ไว้บริหารเอง อย่างไรก็ตาม ภาระการตั้งสำรองน่าจะลดลงหลังจากที่ตั้งสำรองฯไปมาแล้วในปีที่ผ่านมา

ขณะที่โบรกเกอร์บางราย มองว่า KBANK ยังมี Upside จากการบริหารเงินทุนในด้านการจ่ายปันผลที่สูงขึ้นหรือซื้อคืนหุ้น เนื่องจากมีทุนมากเกินพอหลังการประกาศใช้ TFRS9 และการปรับปรุง ROE เพิ่มขึ้นหลังจากลดลงต่ำกว่า 10% ในขณะนี้ รวมถึงอัตราการจ่ายเงินปันผลที่อยู่ระดับ 20-28% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มีอัตราการจ่ายปันผลในระดับ 35-47%

ราคาหุ้น KBANK พักเที่ยงอยู่ที่ 137 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 1.11%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           169.00
          เอเชีย เวลท์                       ซื้อ                           166.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)               ซื้อ                           180.00
          ฟินันเซีย ไซรัส                      ซื้อ                           164.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)         ซื้อ                           160.00

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เหตุผลแนะ"ซื้อ"หุ้น KBANK ว่าเป็นผลจากที่ราคาหุ้นมี Upside มาก ทำให้มีความน่าสนใจลงทุน ขณะที่ผลประกอบการปี 63 คาดหวังว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วจากแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ขณะนี้ยังขอประมาณการแบบ conservative กำไรสุทธิที่ 37,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 38,727 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4/62 เร่งขายเงินลงทุนออกไปมาก ทำให้ปีนี้อาจไม่ได้เห็นกำไรมากเท่ากับปีก่อน ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมก็ยังไม่ดี

ขณะที่สินเชื่อในปี 63 ก็คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีที่แล้วที่สินเชื่อเติบโต 4.6% ส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯน่าจะอยู่ในระดับ 30,000 ล้านบาท ลดลงปีที่แล้วที่ตั้งสำรองฯ 34,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก KBANK เก็บ NPL ไว้บริหารเอง ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่าจะแก้หนี้ได้ ทำให้ NPL มีโอกาสเพิ่มขึ้น

ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้มีมุมมองเป็นบวกต่อ KBANK และคาดว่าจะเห็นการบริหารเงินทุนในแง่ของการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น หรือ การซื้อคืนหุ้น เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ ประการแรก ทุนของธนาคารมีมากเกินพอหลังประกาศใช้ TFRS9 ประการที่ 2 คาดว่าธนาคารจะปรับปรุงอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้น หลังจากลดลงต่ำกว่า 10% ในขณะนี้ ประการสุดท้าย อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลของ KBANK อยู่ที่ 20-28% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่ 35-47%

นอกจากนั้น บล.เมย์แบงก์ ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ KBANK ในปี 63-64 ขึ้น 2% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม โดยธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้นจากธุรกิจสินเชื่อและกองทุนรวมในไตรมาส 4/62 และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 63 ส่วนในแง่ลบ ธุรกิจประกันชีวิตยังคงชะลอตัวเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น

ขณะที่ KBANK คงเป้าหมายทางการเงินปี 63 สินเชื่อขยายตัว 4-6% และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ระดับ 3.1-3.3% ลดลง 20bp เมื่อเทียบปีต่อปี จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจะหนุนการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย สำหรับสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อ SME คาดจะขยายตัวจากภาคธุรกิจโรงพยาบาล ก่อสร้าง โทรคมนาคมและขนส่ง

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า การประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุดทาง เป้าหมายทางการเงินในปี 63 ของ KBANK ยังคงเดิมจากครั้งก่อนหน้า โดยยังคงมุมมองเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจ และคาด NPL ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ การเก็บหนี้ไว้บริหารเองเนื่องจากเชื่อว่าผลตอบแทนดีกว่าการขาย ,การปรับขึ้นของ NPL ใหม่ราว 1-1.5% ของสินเชื่อ ตามภาวะเศรษฐกิจ และลูกหนี้ปรับโครงสร้างราว 30% กลับมาเป็น NPL อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากกำไร Q4/62 ของ KBANK ที่ดีกว่าคาด ทำให้ปรับประมาณการรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมเคยคาดว่าจะลดลงถึง 8.1% จากปีก่อน เป็นลดลง 6.9% จากปีก่อน จากโมเมนตัมรายได้ค่าธรรมเนียมที่เริ่มประคองตัวได้ ส่วนสมมติฐานอื่น คาดว่าสินเชื่อเติบโต 5% และ NIM อยู่ที่ 3.23% ส่วน Credit cost ที่ 1.5% และ Cost to income ratio อยู่ที่ 45.7% ทำให้ปรับประมาณการกำไรปี 63 ขึ้น 5% เป็น 38,000 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากปีที่แล้ว

บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ฯ มองแนวโน้มผลประกอบการปี 63 ของ KBANK ไม่ได้หวือหวามากนัก ประเมินกำไรสุทธิไว้ราว 38,900 ล้านบาท ขยายตัว 0.7% จากปีก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อที่ 4.4% จากพอร์ต SME ที่มองว่าจะฟื้นตัวได้ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยประเมิน NIM ไว้ที่ 3.33% ค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ขณะที่รายได้ Non-NII ใช้สมมติฐานหดตัวลง 17% ตามเป้าที่ได้รับเพื่อประมาณการจุดต่ำสุดของรายได้ที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี มองว่า Credit cost ที่ลดลงเหลือเพียง 145 bps จะช่วยหนุนให้ผลประกอบการออกมาดี

นอกจากนี้ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside ในเชิง Valuation โดย Key driver มาจากการลดลงของ Credit cost เป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากรายได้ Non-NII ไม่ได้หดตัวไปถึงกรณี Worse case ที่ -17% ก็จะเป็น Upside ต่อประมาณการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ