SPALI ตั้งเป้าปี 63 ยอดขาย 2.6 หมื่นลบ.-รายได้ 2.4 หมื่นลบ.,เปิด 30 โครงการใหม่เน้นแนวราบมากสุดในรอบ 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 28, 2020 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SPALI ตั้งเป้าปี 63 ยอดขาย 2.6 หมื่นลบ.-รายได้ 2.4 หมื่นลบ.,เปิด 30 โครงการใหม่เน้นแนวราบมากสุดในรอบ 5 ปี

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 63 ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำยอดขายได้ 2.23 หมื่นล้านบาท พร้อมวางแผนเปิดโครงการใหม่ จำนวน 30 โครงการ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 25 โครงการ และคอนโดมิเนียม 5 โครงการ

การเปิดโครงการใหม่ในปีนี้จะเน้นไปที่โครงการแนวราบเป็นหลัก ถือว่าเป็นการเปิดโครงการแนวราบมากที่สุดในรอบ 5 ปี เป็นไปตามภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่ยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบอยู่มาก และเป็นตลาดที่มีความต้องการจริง ไม่ใช่การเก็งกำไร ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบการชะลอตัวของกำลังซื้อเหมือนกับตลาดคอนโดมิเนียม

ขณะที่การเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปีนี้ จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และอยู่ในระดับราคาที่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ซึ่งจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่จะไม่มาก สอดคล้องกับการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อช่วยลดซัพพลายในตลาด และทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมกลับเข้าสู่สมดุล หลังจากปีที่ผ่านมาซัพพลายค่อนข้างสูง หลังลูกค้ากลุ่มนักลงทุน และลูกค้าชาวจีนที่เป็นผู้ซื้อหลักหายไปมาก จากการออกเกณฑ์กำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงกำลังซื้อที่ชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดี

ล่าสุด บริษัทเตรียมเปิดโครงการคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ สไตล์รีสอร์ท "ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญฯ 91" มูลค่าโครงการประมาณ 2.1 พันล้านบาท เป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 8 ชั้น จำนวน 5 อาคาร จำนวน 1,036 ยูนิต และร้านค้า 4 ยูนิต ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สถานีบางอ้อ ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้านบาท กำหนด Pre-Sales อย่างเป็นทางการในวันที่ 22-23 ก.พ.นี้

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายตลาดโครงการแนวราบในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา , พิษณุโลก และฉะเชิงเทรา ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัวสูง และทำให้สัดส่วนการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 34% ในปี 63 จากเดิมที่ 24% พร้อมวางงบซื้อที่ดินในปีนี้ไว้ที่ 8 พันล้านบาท และงบก่อสร้าง 1.2 หมื่นล้านบาท

ด้านรายได้ของบริษัทในปี 63 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้มูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่กว่า 3.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่สร้างเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จำนวน 4 โครงการ ส่วนครึ่งปีแรกรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากโครงการแนวราบเป็นหลัก รวมไปถึงการทยอยระบายสต็อกที่มูลค่ามีอยู่ 1.4 หมื่นล้านบาทให้ลดลงไปอีกราว 5-10% ในช่วงไตรมาสแรกนี้เพื่อเร่งสร้างรายได้เข้ามา

นายไตรเตชะ กล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการของบริษัทปีนี้ มองว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัวจากปีก่อนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 15% จากปี 61 ที่ 10% หลังจากที่มาตรการ LTV มีความผ่อนคลายลงมาบ้าง และเห็นสัญญาณของธนคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้มองว่าแนวโน้มการปฏิเสธสินเชื่อบ้านในปีนี้จะลดลง

ส่วนการออกหุ้นกู้ของบริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือว่ามีสภาพคล่องและมีเงินทุนรองรับการพัฒนาโครงการและการซื้อที่ดินอยู่มาก และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำเพียง 2.31% ทำให้อาจจะยังไม่เร่งการออกหุ้นกู้มากในช่วงนี้

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าในปี 63 จะเป็นปีที่ภาพรวมผลการดำเนินงานจะฟื้นกลับมาทั้งรายได้และกำไร หลังจากที่ปีก่อนผลการดำเนินงานของบริษัทและภาพรวมของตลาดเผชิญกับแรงกดดันมาก ทำให้รายได้ของบริษัทในปีก่อนนั้นออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และต่ำกว่าปี 61 ที่ทำได้ 2.58 หมื่นล้านบาท มองว่าในปีนี้ตลาดและบริษัทจะสามารถปรับตัวและรับมือได้ค่อนข้างดีแล้ว ทำให้ทิศทางของผลการดำเนินงานน่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมา

ด้านนายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร ของ SPALI กล่าวว่า สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่บริษัทยังมีความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสในการลงทุนใหม่ และให้ผลตอบแทนที่ดี ประกอบกับยังมีเงินลงทุนเหลืออยู่ในฟิลิปปินส์ที่ยังไม่นำมาใช้ ทำให้มองไปถึงการต่อยอดการลงทุนใหม่ ๆ ในฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เข้าไปศึกษาโครงการที่สนใจราว 4-6 โครงการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเปิดโอกาสการลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย อีกทั้งปัจจุบันมีความพร้อมในการลงทุน ทั้งในด้านเงินลงทุน และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้เป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของดีลที่เข้ามา โดยตั้งเงินลงทุนรองรับการลงทุนต่างประเทศสัดส่วน 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ หรือกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ไปแล้ว 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ซึ่งพัฒนาไปแล้ว 11 โครงการ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท และอาจจะมีการพิจารณาพัฒนาเพิ่มอีกในปีนี้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ