ACE ออกโรงเรียกความเชื่อมั่นหลังถูกทุบหุ้นดิ่งฟลอร์ ย้ำเด้งรอง ผบ.ตร.ไม่กระทบธุรกิจ,รุกหาดีลโรงไฟฟ้า CLMV

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 27, 2020 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาราคาหุ้น ACE ปรับตัวลดลง 29.63% ติดฟลอร์มาอยู่ที่หุ้นละ 3.04 บาทในระหว่างการซื้อขายนั้น ขอยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ได้มีการขายหุ้นออกมา แต่ขณะเดียวกันยังได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และทีมผู้บริหารว่าแนวทางบริหารงานและปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง และในวันดังกล่าวบริษัทก็ได้ดำเนินการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นไปแล้ว เพื่อตรวจสอบรายละเอียดว่ามีนักลงทุนกลุ่มใดขายหุ้นบริษัทออกมาบ้าง คาดว่าจะรู้ผลได้ภายใน 3-4 วัน

ปัจจุบันกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูล "ทรงเมตตา" ถือหุ้นรวมกันเกือบ 80% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ ยอมรับว่าราคาหุ้นบริษัทที่ปรับตัวลดลง เหตุผลน่าจะเกิดจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อกระแสการถูกโยกย้ายของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งคือ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่าไม่ได้กระทบกับแผนงานบริษัทในระยะสั้นและระยะยาว เพราะพล.ต.อ.วิระชัย อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับทีมบริหาร ตลอดจนที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินงานต่าง ๆ ด้วยความโปร่งใสและเป็นมืออาชีพ ดังนั้น จึงไม่ได้กระทบกับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่บริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลในปีนี้ โดยในเร็ว ๆ นี้ทีมบริหารมีแผนเรียกความเชื่อมั่นด้วยการเดินสายชี้แจงข้อมูลแผนธุรกิจกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์หลายราย

นางสาวจิรฐา กล่าวอีกว่า ในปี 63 บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐจะเปิดประมูล ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ (MW) และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีเป้าหมายที่จะชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 350-400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 100-150 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีจุดแข็งเรื่องความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดหาเชื้อเพลิง, มีความสัมพันธ์ชุมชน, มีการวิจัยและปรุงสายพันธุ์พืชพลังงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดได้เปรียบคู่แข่งด้านต้นทุนการก่อสร้างของแต่ละโครงการ

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขยะตามแผน คาดใช้งบลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนจะใช้เป็นเงินกู้โครงการ (Project Finance) เกือบ 70% มาจากเงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงมีแผนออกหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันฐานะการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่ง มีหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.50 เท่า และมีกระแสเงินสดจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เมื่อปลายปี 62 และเงินหมุนเวียนจากผลการดำเนินโครงการในปัจจุบัน

"เรามีความมั่นใจอย่างมากถึงศักยภาพการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนและขยะ แม้ว่ามีกระแสความกังวลจากกรณีของ พล.ต.อ.วิระชัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถูกโยกย้ายมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นในช่วงนี้ แต่จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ทีมงานที่มีศักยภาพ การทำงานด้วยหลักธรรมาภิบาล มีเทคโนโลยีทันสมัยจากการมุ่งเน้นเรื่อง R&D และพันธมิตรอีกหลายรายที่อยากทำงานร่วมกับเรา เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเรามีความเป็นมืออาชีพ"นางสาวจิรฐา กล่าว

นางสาวจิรฐา กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid จำนวน 4 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 93 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอขยายเวลาการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในไตรมาส 1/63

ด้านนายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 212.18 เมกะวัตต์ และภายในปี 63 บริษัทคาดจะรับรู้รายได้บางส่วนจากโรงไฟฟ้าที่เตรียม COD เพิ่มขึ้นอีกราว 17 เมกะวัตต์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือทั้งหมด 210 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนงานภายในปี 64 บริษัทจะรับรู้รายได้จากการ COD ทุกโครงการในมือรวมกำลังการผลิต 421 เมกะวัตต์ แม้ว่าวันนี้จะยังคงเป้าหมายกำลังการผลิตรวมแตะ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 67 แต่หากชนะประมูลโครงโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขยะได้ตามเป้าหมาย ก็มีโอกาสกำลังการผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ก็อาจบรรลุเป้าเร็วกว่าคาด

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาเข้าลงทุนและซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าภายในปีนี้มีโอกาสเห็นความชัดเจนอย่างน้อย 1 ดีล

ขณะเดียวกันบริษัทประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน กว่า 200 ล้านบาท/ปี โดยการชำระคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนดจำนวน 1,450 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในอัตรากว่า 1.5% กับสถาบันการเงินชั้นนำ ส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในปีนี้และปีต่อไปอย่างมีนัยยะ และทำให้บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยล่าสุดบริษัทมีอัตราส่วนทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ มีอัตรากำไรขั้นต้น 32.4% และอัตรากำไรสุทธิ 17.6% และ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) ต่ำ ประมาณ 0.50 เท่า ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการลงทุน ขยายกิจการเพิ่มเติมได้อย่างมาก

https://youtu.be/PMkNL__gic4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ