ทริส จัดอันดับหุ้นกู้ชุดใหม่ของ TRUE วงเงิน 6 พันลบ.ที่ "BBB+"แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 31, 2020 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ระดับ "BBB+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกัน

ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนด ใช้สำหรับการลงทุน และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจร ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดและการมีโครงข่ายที่ครอบคลุมทั้งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยกดดันจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก

ผลการดำเนินงานของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทมีรายได้จากการการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 1.12 แสนล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charges -- IC) เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 7.86 หมื่นล้านบาท อันเป็นผลมาจากจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและจากการให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งดำเนินงานโดยทรูมูฟ เอช ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นทั้งในระบบเติมเงินและรายเดือน ทรูมูฟ เอช มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 30.1 ล้านราย ณ เดือนกันยายน 2562 เพิ่มขึ้นจาก 29.2 ล้านรายเมื่อปลายปี 2561 และสร้างรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 5.79 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของรายได้การให้บริการที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 2.7% ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช ยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 29% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรม

ทรูออนไลน์กำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่ ทรูวิชั่น มีฐานรายได้ที่สูงในปี 2561 เนื่องจากบริษัทถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 (FIFA World Cup 2018) ส่งผลให้รายได้การให้บริการของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและธุรกิจโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.8% และ 11.4% ตามลำดับ

กระแสเงินสดของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากระดับรายได้การให้บริการที่เพิ่มขึ้นและการระมัดระวังค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA ) ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ 2.75 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้สินปรับปรุงสุทธิของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 2.71 แสนล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2562

โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 5.3 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 13.2% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททั้ง 2 รายคือเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงจากภาระทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับเกินกว่า 7 เท่า อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบได้ หากผลของคดีความที่มีมาแต่ในอดีต เช่น ประเด็นเรื่องส่วนแบ่งรายได้ หรือ เรื่องภาษีสรรพสามิต หรือประเด็นอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ