ภาวะตลาดหุ้นไทยปิดลบ 11.31 จุด สวนทางภูมิภาค หลังไร้ปัจจัยใหม่หนุน-กังวลเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ,แรงขายหุ้นแบงก์ถ่วง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 11, 2020 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,523.93 จุด ลดลง 11.31 จุด (-0.74%) มูลค่าการซื้อขาย 52,619.14 ล้านบาท

การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ โดยทำระดับสูงสุดที่ 1,539.43 จุด และทำระดับต่ำสุด 1,522.97 จุด

ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้ เพิ่มขึ้น 596 หลักทรัพย์ ลดลง 1,028 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 387 หลักทรัพย์

นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยมีทิศทางไม่ค่อยดีนัก แม้ Sentiment ต่างประเทศไม่ได้แย่ แต่ตลาดหุ้นไทยกลับสวนทางภูมิภาคอย่างชัดเจน จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอตัวกว่าที่คาด ท่ามกลางแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ยังคงมีอยู่ และปัจจัยบวกจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ปลดล็อกจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากสามารถผ่านการลงมติของสภาฯ และนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ใน 1-2 สัปดาห์ ก็คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมี.ค.

ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ ดัชนีน่าจะเริ่มทรงตัวได้หลังจากที่ปรับลงแรงวันนี้ ภายใต้ปัจจัยกดดันที่ไม่ได้เด่นชัดนักน่าจะทำให้ภาพตลาดเริ่มทรงตัวได้ และแกว่งตัวออกด้านข้าง มีแนวรับที่ 1,510 จุด และแนวต้านที่ 1,530 จุด

ด้านนายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับลงสวนทางตลาดภูมิภาค เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่หนุน หลังจากสัปดาห์ก่อนดัชนีปรับตัวขึ้นมาพอสมควรจากคาดว่าความรุนแรงของสถานการณ์ไวรัสโคโรนาเริ่มลดลง และกรณีการปลดล็อกร่างกฎหมายงบประมาณปี 63 ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามตลาดมีความกังวลต่อภาพการอ่อนแอของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4/62 ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/62 ของไทยที่จะประกาศในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้เมื่อมองไปข้างหน้าในไตรมาส 1/63 และช่วงครึ่งแรกของปี 63 เศรษฐกิจไทยก็ยังมีทิศทางที่อ่อนแอรับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ที่มีความล่าช้า โดยยังต้องติดตามสภาผู้แทนราษฎร ที่จะโหวตร่างกฎหมายงบประมาณปี 63 ในวาระ 2 และ 3 วันที่ 13 ก.พ.นี้ด้วย ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าหลายหน่วยงานก็คงจะปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 63 ลงจากเดิมคาดว่าเติบโตราว 2.8% มาอยู่ที่ราว 2.2-2.3% ซึ่งกดดันดัชนีไม่ให้รีบาวด์ได้มากนัก โดยมองว่าอัพไซด์ของดัชนีหุ้นไทยจะยังจำกัดอยู่ในกรอบ 1,540-1,550 จุด

สำหรับแรงขายหุ้นที่มีออกมากดดันดัชนีในวันนี้ อยู่ในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ที่ยังกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และค่าการกลั่นที่ยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติมากนัก แม้ในช่วงนี้ค่าการกลั่นจะขยับขึ้นก็ตาม รวมถึงมีแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์ จากความกังวลต่องบประมาณปี 63 ที่ล่าช้าและทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ อีกทั้งยังมีประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับแนวทางการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินช่วงไตรมาส 3/63 ทำให้เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์

ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ คาดว่าดัชนีจะแกว่งไซด์เวย์ ออกด้านข้าง โดยมีกรอบแนวรับที่ 1,510-1,520 จุด และแนวต้านที่ 1,540-1,550 จุด

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่

          BAM        มูลค่าการซื้อขาย 3,190.16 ล้านบาท  ปิดที่  31.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท

GPSC มูลค่าการซื้อขาย 2,231.42 ล้านบาท ปิดที่ 77.00 บาท ลดลง 0.75 บาท

          PTT        มูลค่าการซื้อขาย 2,054.87 ล้านบาท  ปิดที่  43.00 บาท ลดลง  0.50 บาท
          AOT        มูลค่าการซื้อขาย 2,051.64 ล้านบาท  ปิดที่  70.50 บาท ลดลง  1.00 บาท

ADVANC มูลค่าการซื้อขาย 1,987.34 ล้านบาท ปิดที่ 196.50 บาท ลดลง 3.00 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ