กสทช. จัด Mock Auction โชว์ความพร้อมประมูล 5G 16 ก.พ.นี้ แนะใช้ดุลยพินิจเคาะราคาไม่อยากให้ซ้ำรอยครั้งก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 14, 2020 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า ในวันนี้สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ทุกรายเข้าร่วมการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) เป็นครั้งที่ 2 พร้อมชมห้องประมูล 5G

สำหรับการประมูลในวันที่ 16 ก.พ.นั้น ทางสำนักงาน กสทช. เลือกใช้วิธีการประมูลแบบ Clock Auction นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเลือกใช้การประมูลรูปแบบนี้ เนื่องจากช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการประมูล เพราะการประมูลครั้งนี้วางแผนจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 4 คลื่นพร้อมกัน คือ คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งจำนวนชุดคลื่นความถี่ถึง 19 และ 27 ชุดตามลำดับ หากใช้การประมูลรูปแบบเดิมจะทำให้เวลาที่ใช้ในการประมูลยาวนานมาก

นอกจากนี้ ระบบการประมูลแบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ช่วยให้การระบุราคามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัจจุบัน หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ก็เปลี่ยนรูปแบบการประมูลจาก Simultaneous Muti-Round Auction (SMRA) มาเป็นรูปแบบ Clock Auction เช่นกัน

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz จะประมูลตามลำดับจากคลื่นย่านต่ำไปคลื่นย่านสูง โดยการประมูลแต่ละคลื่นความถี่จะประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Allocation Stage) ด้วยรูปแบบการประมูลแบบ Clock Auction และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ซึ่งจะเปิดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายยื่นข้อเสนอสำหรับแต่ละทางเลือก (First-price Sealed-bid Auction)

เลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประมูลแบบ Clock Auction เป็นการเสนอจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการ ณ ราคาประมูลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละรอบ โดยหลังจากการประมูลรอบแรกแล้ว ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถยืนยันจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการในราคาที่เพิ่มขึ้น หรือลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยจะต้องระบุราคาที่เต็มใจจ่ายทุกครั้งที่ลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยการประมูลแบบ Clock Auction จะสิ้นสุดลงเมื่อความต้องการจำนวนคลื่นความถี่เท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย ทั้งนี้ หากในรอบแรก ความต้องการจำนวนคลื่นความถี่มีน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย การประมูลจะจบในรอบแรก

นายฐากร คาดว่า การประมูล 5G จำนวน 3 คลื่น จะมีมูลค่าการประมูลรวมไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาท โดยคลื่น 700 MHz มีจำนวน 3 ใบอนุญาตหรือชุด และมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ที่มีราคาขั้นต่ำ 8,792 ล้านบาท/ชุด และเคาะครั้งแรกทุกรายที่ 440 ล้านบาท รวมแล้วเงินประมูลคลื่น 700 MHz ได้อย่างน้อย 26,000 ล้านบาท

คลื่น 2600 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย มีจำนวน 19 ชุด ราคาขั้นต่ำที่ 1,862 ล้านบาท และเคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท คาดประมูลได้หมดจะรวมมูลค่าประมูลราว 38,000 - 39,000 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 26 GHz มีจำนวน 27 ชุด และมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ซึ่งคาดว่าแต่ละรายต้องการ เพียง 1 ชุด รวม 4 ชุด รวมกว่า 2,000 ล้านบาท จากราคาขั้นต่ำ 423 ล้านบาทและเคาะราคาครั้งแรก 22 ล้านบาท

นายฐากร ระบุว่า ไม่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมประมูลเคาะราคาที่สูงเกินไป เพราะต้องคำนึงถึงว่าต้องลงทุนการขยายโครงข่าย ต้องการให้ใช้ดุลยพินิจในการเคาะราคา ไม่ต้องให้ซ้ำรอยเหมือนการประมูลคลื่น 900 MHz ที่ราคาขึ้นไปสูงกว่า 6 เท่า และการประมูลทีวีดิจิทัล สูงขึ้นมากว่า 3 เท่า

"ไม่คิดว่าจะนอนค้างคืน รอบนี้เราไม่ช่วยค่าประมูลแล้ว ไม่มีมาตรา 44 แล้ว เป็นการตัดสินใจผู้ประกอบการเอง ฉะนั้นต้องตัดสินใจให้ดี ประมูล 5G ครั้งนี้และอีก 2 ปีก็อาจมี 6G ก็ต้องเตรียมเงินลงทุนอีก และก็ต้องให้บริการผู้บริโภคในราคาถูก"นายฐากร กล่าว

อนึ่ง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทย่อยของบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เข้าร่วมประมูลคลื่น 700MHz , 2600 MHz และ 26 GHz

บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)บริษัทในกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เข้าร่วมประมูลคลื่น 700MHz , 2600 MHz และ 26 GHz

บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทย่อย ของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เข้าร่วมประมูลคลื่น 26 GHz และ บมจ.ทีโอที เข้าร่วมประมูลคลื่น 26 GHz


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ