TOP หวังมาร์จิ้นปี 63 ดีขึ้นหลังผ่านช่วงปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ IMO พร้อมอัดงบ 6 หมื่นลบ.เน้นลงทุน CFP

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 17, 2020 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TOP หวังมาร์จิ้นปี 63 ดีขึ้นหลังผ่านช่วงปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ IMO พร้อมอัดงบ 6 หมื่นลบ.เน้นลงทุน CFP

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มมาร์จิ้นของกลุ่มธุรกิจบริษัทในปีนี้น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากปีที่แล้วที่เผชิญกับส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ธุรกิจการกลั่นก็มีค่าการกลั่น (GRM) ก็อยู่ในระดับต่ำช่วงไตรมาส 4/62 แต่เชื่อว่าหลังจากที่ผู้ประกอบการปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 63 ได้แล้วก็จะเริ่มเห็นค่าการกลั่นมีทิศทางที่ดีขึ้น

"จริง ๆ เรามองว่าปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วมีปัจจัยหลายเรื่อง ปิโตรเคมีไม่ดี มาร์จิ้น พอ IMO เข้ามาจริง ๆ หลังจากช่วงเดือนแรกที่ทุกคนปรับตัวหมด ก็คาดว่าจะดีขึ้น ดีมานด์ตอนนี้ไม่อยากหวังมาก เราหวังว่ามาร์จิ้นจะดีขึ้น เราพยายามเตรียม option หลาย ๆ อย่างที่ดำเนินการให้เราสามารถปรับตัวได้เร็ว เช่น เราจะกลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำ เพื่อให้ได้เกณฑ์ IMO แล้วนำไปขาย หรือไม่สนใจ IMO ผลิตน้ำมันกำมะถันสูง ที่ราคาต่ำ แต่เราก็มีต้นทุนต่ำด้วย เพราะใช้น้ำมันดิบที่มีกำมะถันสูง ถ้าเรายืดหยุ่นได้ก็สามารถที่จะสร้างโอกาส เราเน้นเรื่องความสามารถในการกลั่น เป็นโหมดการกลั่น และดูเฮดจิ้งราคาบ้าง ตามช่วงเวลา ถ้าเราปรับตัวได้เร็ว ด้วยประสิทธิภาพที่เรามี โรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพเราเชื่อว่าจะ move ได้เร็ว"นายวิรัตน์ กล่าว

อนึ่ง ค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ในช่วง ม.ค.63 อยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือกว่า 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำต่อเนื่องจากไตรมาส 4/62 แต่ค่าการกลั่นเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.63 โดยโบรกเกอร์มองว่าค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นมาที่ 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงนี้มีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากโรงกลั่นในจีน Sinopec, PetroChina ปรับลดกำลังการผลิตลงตามความต้องการใช้ในภาคการผลิตและขนส่งที่ชะลอตัว ขณะที่สหรัฐยกเลิกการคว่ำบาตร 1 ใน 2 บริษัทลูกของ COSCO บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก ส่งผลให้ค่าระวางเรือ VLCC ลดลง เป็นบวกต่อต้นทุนของผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานลดลง อาจทำให้การปรับตัวขึ้นของค่าการกลั่นเป็นไปอย่างจำกัด

นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจน แม้จะเริ่มเห็นราคาน้ำมันปรับลดลงขณะนี้ แต่ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับมาร์จิ้นเป็นหลัก การที่ราคาน้ำมันลดลงก็จะส่งผลต่อต้นทุนน้ำมันให้ลดลงด้วยเช่นกัน และหากมาร์จิ้นยังอยู่ระดับที่ดีก็จะส่งผลดีต่อบริษัท ซึ่งบริษัทก็คาดหวังว่ามาร์จิ้นหลังจากนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ประกอบการโรงกลั่นต่างปรับตัวเองได้ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็น่าจะไม่รุนแรงและอาจจะเป็นไข้หวัดธรรมดาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทในช่วงไตรมาส 1/63 การกลั่นน้ำมันก็ดำเนินการเต็มที่ โดยคาดว่าจะมีอัตราการกลั่นมากกว่า 110% ซึ่งเป็นภาวะปกติ

ส่วนแผนลงทุนในปี 63 การลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่มีมูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในไตรมาส 1/66 แต่การใช้เงินลงทุนจะมากที่สุดในปีนี้อย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ขั้นตอนการออกแบบเสร็จสิ้นแล้วก็จะเริ่มเฟสของการลงทุนที่จะต้องสั่งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามา และการนำคนงานเข้าพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเริ่มงานก็จะใช้เงินลงทุนมากที่สุด

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ เบื้องต้นยังขึ้นอยู่กับมาร์จิ้น ซึ่งอาจจะถูกกระทบทางอ้อมบ้างหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการน้ำมันที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโตเหมือนที่คาดก็จะกระทบต่อมาร์จิ้นในที่สุด อย่างไรก็ตามก็เริ่มมีสัญญาณว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร อาจจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกจากระดับในปัจจุบัน ก็จะช่วยพยุงราคาน้ำมันแม้อาจจะไม่ได้หนุนมาร์จิ้นโดยตรง แต่ก็อาจจะช่วยประกอบให้สถานการณ์อยู่ในภาวะสมดุลกันได้ ขณะที่ในส่วนของผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของบริษัท ขณะนี้สถานการณ์ยังคงเดิมที่มาร์จิ้นถูกกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ในจีนที่จะเพิ่มเข้ามาในปีนี้

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคอุตสาหกรรมนั้น บริษัทก็เริ่มปรับตัวด้วยการประหยัดน้ำ รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ตลอดจนการสร้างถังเพื่อรองรับการเก็บน้ำเพิ่มเติม รวมถึงมีการผลิตน้ำจากหน่วยกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เพื่อผลิตน้ำใช้เอง พร้อมกันนี้ยังเริ่มมองหาแหล่งน้ำจากภายนอกด้วยการเช่าบ่อเก็บน้ำ ซึ่งหากจำเป็นก็สามารถนำน้ำจากภายนอกเข้ามาเสริมได้ โดยเชื่อว่าจะสามารถรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ