SINGER วางเป้าปี 63 รายได้โตกว่า 50% ขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินแตะ 3.2 พันลบ.โชว์ผลงานปี 62 พลิกกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 27, 2020 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 63 ตั้งเป้ารายได้เติบโต ไม่ต่ำกว่า 50% จากปีก่อน และจะรุกขยายธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินมากขึ้น จาก ณ สิ้นปี 62 มีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่แล้วที่ราว 1,264 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปี 63 อยู่ที่ราว 3,200 ล้านบาท

การเติบโตในปีนี้จะมาจากการขยายการเติบโตในธุรกิจหลัก และเดินหน้าขยายธุรกิจแฟรนไชส์ หรือสาขาย่อยลงไปในระดับตำบลต่อเนื่อง ปัจจุบัน SINGER มีสาขารวมกันทั้งสิ้น 1,115 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่จะเข้ามาเสริมการเติบโตให้ SINGER แข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของการสร้างยอดขาย และกำไรที่ดี เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จัดทัพทีมขายบุกตลาดทั่วประเทศ หลังได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal – Loan) จาก ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 62 บริษัทพลิกกลับมีกำไรสุทธิ 165.89 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 61 ที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 80.77 ล้านบาท นับเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 58-62) ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 2,610.37 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 9.61% เนื่องจากโฟกัสการดำเนินธุรกิจที่มีกำไร ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ "รถทำเงิน" จัดทัพทีมขายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้พร้อมเริ่มรุกตลาดอย่างเต็มกำลังในปีนี้ หลังจากได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สนับสนุนภาพรวมธุรกิจให้โดดเด่นอย่างมีเสถียรภาพ

ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 121.1% รายได้รวมอยู่ที่ 721 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นๆ และการลดลงของรายได้จากการขายจำนวน 13 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการขายทีวี และโทรศัพท์มือถือ ที่ลดลงประมาณ 51 ล้านบาท และ 43 ล้านบาท ตามลำดับ และมียอดขายเพิ่มขึ้นในส่วนของตู้เติมน้ำมัน ตู้แช่ และเครื่องซักผ้าประมาณ 45 ล้านบาท 18 ล้านบาท และ 13 ล้านบาท ตามลำดับ

แม้รายได้จากการขายจะปรับลดลง แต่กลุ่มบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40.4% เนื่องจากเน้นการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง และให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการขาย และต้นทุนการจัดจำหน่ายให้ลดลงจากปีก่อนได้ ขณะที่ ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับ 9.4 % นับเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ขณะที่สัดส่วนรายได้ในปี 62 มาจากยอดขายธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณ 92.3% สินเชื่อรถทำเงิน และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย อยู่ที่ 7.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ