RATCH เกาะติดภัยแล้งหวั่นกระทบผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน"น้ำงึม 2" ในลาว พร้อมยันพิษโควิด-19 ยังไม่กระทบแผนงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2020 09:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ ของบริษัท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ในลาว เพราะหากมีปริมาณน้ำน้อยก็อาจจะต้องปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าลงตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนลงทุน 153.75 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว ยังไม่มีผลกระทบจากภัยแล้ง

อย่างไรก็ตามหากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวลดลง ก็ถือว่าเป็นผลดีกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ในลาว ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อาจจะต้องเพิ่มการผลิตมาชดเชยให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะส่งมาจำหน่ายให้กับประเทศไทย โดยโรงไฟฟ้าหงสา มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนของบริษัท 751.20 เมกะวัตต์

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่การใช้พลังงานโดยรวมของประเทศยังเติบโต ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าของบริษัททุกแห่งมีความพร้อมในการผลิต ซึ่งหากโรงไฟฟ้าของบริษัทถูกสั่งให้หยุดเดินเครื่องผลิตจากการใช้ไฟฟ้าที่ชะลอตัวลงนั้น บริษัทก็จะได้รับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็คาดว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก

นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่กระทบต่อการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,360 เมกะวัตต์ ในจีน ซึ่งบริษัทร่วมลงทุนอยู่ในสัดส่วน 10% เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของจีน อยู่ห่างจากเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่ได้มีการประกาศจากรัฐบาลจีนให้หยุดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังคงเป็นไปตามแผน และแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) และรับรู้รายได้ในปี 64 จากกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 236 เมกะวัตต์

สำหรับในปีนี้ บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 23.99 เมกะวัตต์ คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ย.63 , เร่งลงนามสัญญาโครงการระบบเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มกิจการค้าบีจีเอสอาร์ หลังผ่านการคัดเลือกจากกรมทางหลวงแล้ว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ