KTC คาดกำไรปี 63 ดีกว่าปีก่อนรับปัจจัยหนุน TFRS9 ตั้งสำรองลด-รายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม,มั่นใจยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโตเข้าเป้า 15%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 11, 2020 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า การเริ่มใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ในปี 63 ได้ส่งผลบวกให้กับบริษัทที่จะช่วยหนุนให้กำไรของบรริษัทในปี 63 คาดว่าจะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากระดับการตั้งสำรองฯมีการปรับตัวลดลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทตั้งสำรองฯไว้เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ไปแล้วค่อนข้างมาก ทำให้ระดับการตั้งสำรองฯในปีนี้ผ่อนคลายลงหลังมาตรฐานบัญชีใหม่มีผลบังคับใช้

ขณะเดียวกันยังมีผลต่อรายรับดอกเบี้ยที่บริษัทได้รับที่จะเพิ่มขึ้น จากเกณฑ์ใหม่ของมาตรฐานบัญชี TFRS9 ที่เปลี่ยนให้ระยะเวลาการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (Write off) เพิ่มเป็น 24 เดือน จากเดิมที่ 90 วัน ทำให้ลูกหนี้ยังต้องชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องจนครบระยะเวลาตามเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทจะมีรายรับดอกเบี้ยเข้าในระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นจากเดิม

อีกทั้งบริษัทยังได้รับเงินภาษีคืนหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไปหลังครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทจะมีการบันทึกกำไรจากเงินคืนภาษีเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยหนุนกำไรของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้อาจจะปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 7-9% จากปีก่อนที่ 1.06% จากระยะเวลาการ Write off ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ที่เพิ่มขึ้น กระทบในส่วนของ NPL แต่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตั้งสำรองฯ

นายชุติเดช กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปีก่อน เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงยังมีการจับจ่ายใช้สอยกัน และลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ มีความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้มีการรูดบัตรใช้จ่ายไปก่อน ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต และบริษัทยังมั่นใจว่าทั้งปีจะเติบโตตามเป้าหมายที่ 15%

ขณะที่ในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวบริษัทได้บริหารจัดการคุณภาพของพอร์ต์สินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเข้มข้นมาก ซึ่งจะเห็นได้จากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตยังทรงตัวจากปีก่อนที่ 49% และอัตราการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 29% ซึ่งในปีนี้บริษัทยังคงมั่นใจว่าพอร์ตสินเชื่อจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 10%

นอกจากนี้ บริษัทยังมองถึงโอกาสในการลดต้นทุนทางเงินในช่วงที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยที่ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะพิจาณาออกหุ้นกู้อีก 5-6 พันล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่ยังรอผลการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก่อน หาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หุ้นกู้ของบริษัทที่วางแผนจะออกในช่วงครึ่งปีหลังจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ทำให้แนวโน้มต้นทุนทางการเงินของบริษัทในปีนี้จะลดลงมาที่ 2.7% จากเดิมที่ 2.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ