(เพิ่มเติม1) COVID-19: ตลท.ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมสู้บรรเทาผลกระทบโควิด-19,ย้ำเซอร์กิตเบรกเกอร์ 10% ยังเหมาะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 12, 2020 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) COVID-19: ตลท.ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมสู้บรรเทาผลกระทบโควิด-19,ย้ำเซอร์กิตเบรกเกอร์ 10% ยังเหมาะสม

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในตลาดทุน ทั้ง บจ. บล. บลจ. และคัสโตเดียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยลดค่าธรรมเนียมรายปีแก่หลักทรัพย์จดทะเบียนที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(TSD) เป็นนายทะเบียน ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรายปีแก่บริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ค่าธรรมเนียมแก่บริษัทสมาชิก และค่าธรรมเนียมรักษาหลักทรัพย์ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ มูลค่าร่วม 500 ล้านบาท

มาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ประกอบด้วย

1. มาตรการช่วยเหลือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทที่มอบหมายให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ (TSD) เป็นนายทะเบียน ได้แก่ บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยลดค่าธรรมเนียมนายทะเบียนรายปี 20% ในปี 2563 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของธุรกิจลดลง นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะลดค่าธรรมเนียมรายปีแก่บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ในปี 2563-2564 ตามจำนวนครั้งที่เข้าร่วมเสนอข้อมูล และข้อกำหนดตามวิธีปฏิบัติในการจัดประชุม

2. มาตรการช่วยเหลือบริษัทสมาชิก แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

2.1 มาตรการลดต้นทุนการทำธุรกรรมใน TFEX โดยลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ตั้งแต่ค่าธรรมเนียมการใช้บริการระบบ streaming ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและการชำระราคาของ SET50 Futures และ SET50 Options รวมทั้งยังมีมาตรการให้ส่วนลดเพิ่มเติมสำหรับปี 2563 อีกด้วย

2.2 มาตรการสนับสนุนบริษัทผู้ออก DW โดยลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน DW ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และจะพิจารณาเพิ่มมาตรการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน DW ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และให้ความรู้ผู้ลงทุนตามเงื่อนไขที่ตลาดกำหนด เป็นการช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

2.3 มาตรการสนับสนุนสมาชิกในการให้บริการผู้ลงทุนบุคคล สนับสนุนให้สมาชิกใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาบริการซื้อขายแก่ผู้ลงทุนบุคคล โดยเพิ่มช่องทางการเชื่อมต่อกับระบบซื้อขายสำหรับผู้ลงทุนบุคคลของสมาชิกแต่ละรายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

3. มาตรการช่วยเหลือสมาชิกผู้ฝากหลักทรัพย์ ของ TSD ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารผู้เก็บรักษาหลักทรัพย์ โดยลดค่าธรรมเนียมรักษาหลักทรัพย์ 20% ตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของสมาชิกผู้ฝากในช่วงภาวะเศษฐกิจชะลอตัว

นายภากร กล่าวว่า วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างมากในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในต่างประเทศทั่วโลก โดยปรับตัวลดลงไปกว่า 8% ซึ่งตลท.ได้มีการติดตามการซื้อขายอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมบล็อกเทรด ช็อตเซล และโปรแกรมเทรดดิ้ง พบว่ายังมีสัดส่วนการทำธุรกรรมเท่ากับในช่วงเวลาปกติ ไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างได

หากมองถึงการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงระยะเวลาถัดไป ยังคงต้องติดตามทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ผลกระทบของราคาน้ำมันนั้นปัจจุบันมองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักแล้ว เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเกิดขึ้นครั้งเดียวและเป็นไปตามกลไกตลาด ในทางกลับกันมองว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นต้นทุนที่สำคัญ และจะส่งผลให้ต้นทุนด้านต่างๆ ปรับตัวลดลงไปตามด้วย จึงขอฝากให้นักลงวิเคราะห์ในการประเมินต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายภากร ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยมากกว่าตลาดหุ้นในต่างประเทศนั้นตอบรับความวิตกกังวลของปัญหาต่าง ๆ มากเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ แต่จากช่วงต้นปีถึงปัจจุบันมองว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงมาถึง 25-26% และระดับ P/E ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในระยะยาว

"ตอนนี้เรามองว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยเป็นว่าตกใจมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเราก็ได้ร่วมมือกับสมาคมนักวิเคราะห์ในการวิเคราะห์เรื่องนี้มาโดยตลอด ที่จะเข้ามาอธิบายผลกระทบที่มีต่อตลาดว่าเป็นอย่างไรบ้าง อาทิเช่นราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ว่าจะเป็นผลกระทบด้านดีอย่างไร และเป็นผลกระทบด้านลบอย่างไร" นายภากร กล่าว

ส่วนของนักลงทุนต่างชาติ ปัจจุบันยังมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยที่ 28.7% ลดลงจากที่ระดับปกติที่ 29-30% ไม่ได้ผิดจากสัดส่วนปกติไปมากนัก โดยเป็นเรื่องปกติเนื่องจากมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ปรับตัวลดลง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติต้องมีการปรับพอร์ตลงมาให้เหมาะสมตามไปด้วย

สำหรับมาตรการพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราว (Circuit Breaker) หากดัชนีปรับขึ้นหรือลงถึง 10% นั้น นายภากร กล่าวว่า ระดับ 10% ยังมีความเหมาะสม โดยที่ผ่านก็ได้มีการศึกษาว่าหากเป็นระดับ 7% หรือ 15% จะเป็นอย่างไร ซึ่งการตั้งระดับ Circuit Breaker ไว้ที่ 10% เพราะไม่อยากจะให้ถึงระดับการหยุดการซื้อขายเร็วเกินไป เพราะมองว่าไม่ได้เกิดประโยชน์

นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับราชการ และผู้เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการมาช่วยตลาดทุนเพิ่มเติม หากได้ความชัดเจนอย่างไรมจะมีการรายงานให้รับทราบเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจหยิบยกมาตรการต่าง ๆ ที่เคยดำเนินการมาในอดีตมาพิจารณาด้วย อย่างเช่นกองทุนพยุงหุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ