(เพิ่มเติม) COVID-19: รัฐบาลแถลงย้ำเลื่อนประชุมผถห.ได้หากจำเป็นโดยไม่มีค่าปรับ แนะจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์แทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 23, 2020 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ว่า กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ และเลขากฤษฎีกา เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือกัน เบื้องต้นแยกเป็น 2 ส่วน หากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใดมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นให้ดำเนินการเลื่อนได้ ซึ่งหากต้องจัดประชุมล่าช้าต้องมีค่าปรับนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์จะยกเว้นค่าปรับให้หากเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็น

แต่หาก บจ.ใดต้องจัดประชุมตามกฎหมายสามารถทำได้แต่ให้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ และหากวาระการพิจารณามีความสำคัญจำเป็นต้องจัดประชุมตามปกติ ต้องดำเนินการตามมาตรการ จำกัดจำนวนคน เว้นระยะห่าง ต้องมีมาตรการป้องกัน วัดไข้ เจลล้างมือ หรือมีมาตรการอื่นในการทำความสะอาดสถานที่ โดยเรื่องนี้มี บจ.จำนวนมากสอบถามมายังศูนย์โควิด

นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ดูแลบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) มากกว่า 700 บริษัท ซึ่งกำหนดว่าจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 4 เดือนหลังจากปิดงบการเงิน มีทางเลือกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ หากบริษัทใดต้องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ แต่ก็ขอเชิญชวนผู้ถือหุ้นหากไม่ประสงค์จะไปร่วมประชุมสามารถมอบอำนาจให้กรรมการอิสระให้เป็นตัวแทนได้ โดยสามารถมอบอำนาจผ่านทางอิเล็กทรอนิคส์ได้ ทั้ง LINE หรือระบบอื่นได้ ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยันว่าทำได้

ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดทางให้ บจ.ที่ต้องการเลื่อนจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามารถทำหนังสือขอเลื่อนไปได้ ขณะที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/57 สามารถรองรับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ได้ มีเพียงแค่ต้องมีองค์ประชุม 1 ใน 3 ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว หรือตามกฎหมายมหาชนระบุว่าต้องไม่น้อยกว่า 25 คน ที่เหลือเป็นคณะกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องมาโดยมใช้ระบบ Live ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งดีอีเอส ยืนยันว่ามีภาคเอกชนให้บริการระบบที่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ และสามารถลงคะแนนเสียงได้ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เข้าประชุมได้

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า บจ.สามารถใช้การประชุมอิเล็กทรอนิคส์ได้เพราะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาก่อนหน้านี้กำหนดให้เป็นการประชุมที่กฎหมายให้การรองรับ และมีผลในทางคดีต่างๆ ทั้งนี้เพื่อลดการแพร่เชื้อ และความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค และถูกต้องตามกฎหมายใช้เทคโนโลยีถูกต้องตามสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ