บลจ.แอสเซท พลัส ยกเว้นค่าธรรมเนียมขาย/สับเปลี่ยนกองทุน ช่วง 1-10 เม.ย.นี้ พร้อมคาดตลาดหุ้นใกล้ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 30, 2020 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ. แอสเซท พลัส กล่าวว่า บริษัทเอื้อประโยชน์การลงทุนให้แก่นักลงทุนในช่วงที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมขายและสับเปลี่ยนเข้า 9 กองทุนเด่น ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นไทย ASP-SME กองทุนรวมต่างประเทศ ASP-DISRUPT, ASP-EVOCHINA, ASP-INDIA, ASP-ROBOT, ASP-VIET และASP-IHEALTH กองทุนรวมผสมทั้งในและต่างประเทศ ASP-AAA และ ASP-PROPIN ระหว่างวันที่ วันนี้ -10 เม.ย.63

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและยอดของผู้ติดเชื้อมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกโดยดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวลดลงติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุวิกฤตินักลงทุนมักจะนำไปเปรียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาอย่าง Subprime Crisis เมื่อปี 2008

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วพบว่าวิกฤติเมื่อปี 2008 นั้นเกิดจากภาคการเงินและภาคเครดิตเป็นผลมาจากการลงทุนใน Mortgage Backed Securities (MBS) ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนั้นทำให้ธนาคารได้ลดกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อลงนำเป็นสู่คุณภาพสินเชื่อที่ต่ำลงและก่อให้เกิดหนี้เสีย (NPL)เป็นจำนวนมากและลุกลามนำไปสู่วิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกในท้ายที่สุด

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มองว่าเกิดจาก Confident Crisis ที่เกิดจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ครั้งก่อน ๆ แต่จะสามารถนำไปสู่ Financial crisis ได้เหมือนในอดีตหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมาตรการในการจัดการการแพร่ระบาด รวมถึงกลไกของรัฐที่จะเข้ามาช่วยจัดการผ่านนโยบายทางการเงินและการคลัง จึงแนะนำให้จับตาสัญญาณเหล่านี้ว่าหากเกิดขึ้นได้รวดเร็วเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้ตลาดฟื้นตัวและนักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง คือ

1. เรื่องมาตรการควบคุมโรค ประกอบไปด้วยมาตรการยุติการเคลื่อนไหวของคน (Stay at Home) เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งมีหลายประเทศที่เริ่มใช้มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้ง ศักยภาพในการตรวจหาโรค ซึ่งในตอนนี้ในหลายบริษัทก็พยายามคิดค้นวิธีการตรวจที่แม่นยำรวดเร็วและที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะต้องเข้าถึงได้โดยง่ายและสามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้นเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา

2. สัญญาณจากการที่ยอดผู้ที่ติดเชื้อทั้งโลกรายวันที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า ยอดผู้ที่รักษาหายซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าสาธารณสุขแต่ละประเทศสามารถควบคุมโรคระบาดนี้ได้ และ 3. Sentiment ของตลาดที่ตอบรับข่าวต่อข่าวร้าย ถ้าตลาดไม่ปรับตัวลดลงเพิ่มเติมเมื่อมีข่าวร้ายนั่นจะเป็นตัวสะท้อนที่ดีว่าตลาดรับรู้ข่าวร้ายไปหมดแล้ว

นายคมสัน กล่าวต่อไปว่า จากข้อสังเกตข้างต้น เราได้เห็นตัวอย่างประเทศที่ดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดคงนี้ไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบัน ไม่มีการพบผู้ติดเชื่อเพิ่มเติม และยอดผู้ที่รักษาหายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกรมควบคุมของโรคระบาด รวมทั้งสภาพตลาดและเศรษฐกิจมีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนที่ตอบรับต่อนโยบายการเงินและการคลังได้เป็นอย่างดี และคาดว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ หากหลาย ๆ ประเทศเริ่ม ดำเนินการตามมาตรการที่เข้มข้นจะส่งผลให้ตลาดกลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ หากเราพิจารณาถึงมูลค่าพื้นฐานของหุ้นทั่วโลกโดยอ้างอิงจากดัชนี MSCI All Country พบว่า ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 13.45 เท่า และอยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีประมาณ 16.50% (ที่มา: Bloomberg as of 23/3/2020) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี หลังจากเกิด Subprime Crisis คาดว่าจะเห็นจังหวะการเข้าลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ