ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 230,140.84 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 13, 2020 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (7 - 10 เมษายน 2563) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 230,140.84 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 57,535.21 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 49% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของ ตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 71% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 163,904 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 53,181 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 9,012 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB226A (อายุ 2.2 ปี) LB26DA (อายุ 6.7 ปี) และ LB21DA (อายุ 1.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายใน แต่ละรุ่นเท่ากับ 5,304 ล้านบาท 4,656 ล้านบาท และ 4,588 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT212A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 960 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รุ่น TRUE215A (BBB+) มูลค่าการซื้อขาย 635 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปตท.สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด รุ่น PTTEPT226A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 576 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงประมาณ 3-18 bps. โดยปรับลดลงค่อนข้างมากในตราสาระยะยาว มีปัจจัยหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทั้งในและต่างประเทศ ด้านปัจจัยในประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สองฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และร่าง พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน มี.ค. 63 ปรับลดลง 0.54% (YoY) โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการระบาดของโรคโควิด -19 และราคาพลังงานที่ลดลง 11% ด้านปัจจัยต่างประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการ อัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการเงินกู้มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนทางด้านเงินทุนให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐ เช่น รัฐบาลท้องถิ่น, ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน เพื่อรับมือกับผลกระทบ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านคณะรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป(EU) เห็นพ้องออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ในประเทศสมาชิก วงเงิน 500,000 ล้านยูโร หรือ 440,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการให้ความช่วยเหลือกับแรงงาน, บริษัท และรัฐบาลต่างๆ

สัปดาห์ที่ผ่านมา (6 เม.ย. 63 - 10 เม.ย. 63) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 7,608 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 280 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 7,327 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย	                         สัปดาห์นี้                สัปดาห์ก่อนหน้า     เปลี่ยนแปลง              สะสมตั้งแต่ต้นปี
	                                           (7 - 10 เม.ย. 63)    (30 มี.ค. - 3 เม.ย. 63)           (%)    (1 ม.ค. - 10 เม.ย. 63)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)          230,140.84                450,973.72       -48.97%              7,042,161.47
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                             57,535.21                 90,194.74       -36.21%                100,602.31
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                   116.3                    115.55         0.65%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                    105.61                    105.41         0.19%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้            1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (10 เม.ย. 63)           0.68        0.7    0.71    0.78    1.03     1.45      1.6     2.45
สัปดาห์ก่อนหน้า (3 เม.ย. 63)       0.72       0.73    0.74    0.89    1.13     1.56     1.78     2.44
เปลี่ยนแปลง (basis point)          -4         -3      -3     -11     -10      -11      -18        1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ