โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" OSP ลุ้นกำไรโตสวนกระแสโควิด-19 เน้นลดต้นทุน , M-150 และ C-Vitt ชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2020 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ "ซื้อ" หุ้นบมจ.โอสถสภา (OSP) ลุ้นผลงานไตรมาส 1/63 แตะ 913 ล้านบาท เติบโต 11% เทียบกับไตรมาสก่อน เหตุเตรียมแผนรับมือโควิด-19 มุ่งเน้นลดต้นทุนผ่านโปรแกรม "Fit Fast Firm" ปรับสูตรเครื่องดื่มลดน้ำตาลประหยัดภาษีความหวาน พร้อมชูยอดขายเครื่องดื่ม M-150 และ C-Vitt ชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม เดินหน้าลุยขยายกำลังการผลิต จับตากำไรสุทธิปีนี้เติบโตโดดเด่น 22% สวนกระแสวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก

พักเที่ยงราคาหุ้น OSP อยู่ที่ 39 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 5.41% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 2.35%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ         ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ               ซื้อ                50.00
          เคทีบี (ประเทศไทย)             ซื้อ                50.00
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี                ซื้อ                41.00
          บัวหลวง                       ซื้อ                45.00

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการ OSP ยังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากบริษัทมีแผนรองรับกับวิกฤติของโควิด-19 ไว้แล้วทำให้ได้รับผลกระทบจำกัด ในปัจจุบันโรงงานผลิตสินค้าและการขนส่งโลจิสติกส์สามารถดำเนินการได้ตามปกติ พร้อมกับมีแผนออกสินค้าใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แก่ สเปรย์แอลกอฮอล์ Ole Hand Sanitizer และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เบบี้มายด์ Healthi Plus ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด

ทั้งนี้ OSP ใช้กลยุทธ์บริหารธุรกิจมุ่งคุมต้นทุนผ่านโปรแกรม Fit Fast Firm คาดว่าช่วยลดต้นทุนด้านต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 775 ล้านบาท ช่วยผลักดันกำไรสุทธิ OSP ในปีนี้มาอยู่ที่ 3.96 พันล้านบาท หรือเติบโต 22% จากปีก่อน

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีโอกาสเติบโต เนื่องจากช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ตลาดเครื่องดื่มประเภท Energy Drink .นประเทศเติบโต 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเครื่องดื่มประเภท Functional Drink เติบโต 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า C-Vitt มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 29.8% ผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นในไตรมาสแรก OSP ได้เริ่มปรับลดปริมาณน้ำตาลนในเครื่องดื่มทำให้เสียภาษีน้ำตาลในอัตรา 0.10 บาทต่อลิตร จากเดิมที่ 1.00 บาทต่อลิตรหนุนศักยภาพทำกำไรดีขึ้น

"แม้ว่าหุ้น OSP เริ่มขึ้นมาแล้วช่วงก่อนประกาศงบไตรมาสแรกที่ทุกคนคาดว่าสามารถเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันมีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คาดหวังได้ว่าในครึ่งปีหลังหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายน่าจะเห็นกำไรเติบโตโดดเด่น ปัจจุบันมองราคาหุ้นยังมีอัพไซด์ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยฯเรากำหนดไว้"นายมงคล กล่าว

บทวิจัย บล.บัวหลวง ระบุว่า ปัจจัยลบโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ OSP ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่มีการปรับประมาณการกำไรปีนี้ เนื่องจาก OSP มีแผนธุรกิจช่วยผลักดันรายได้เติบโตได้ถึง 2 หลัก แม้ว่าในครึ่งปีแรกแนวโน้มกำไรอาจจะยังทรงตัว แต่เชื่อว่าจะเร่งตัวชัดเจนในครึ่งปีหลัง ยังคงคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายพื้นฐาน 45 บาท

มุมมองของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่ายอดขายของ OSP ในไตรมาส 1/63 จะลดลง 2% เทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35.4% โดยเพิ่มขึ้น 0.34% เทียบกับไตรมาสก่อน และ 0.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโปรแกรม Fit Fast Firm ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการปรับสูตร M-150 ด้วยการลดน้ำตาล ทำให้ภาษีความหวานลดลงจาก 0.15 บาท/ขวด เป็น 0.015 บาท/ขวดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลว่าแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 1/63 จะอยู่ที่ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 11% เทียบกับไตรมาสก่อน และ 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการระบาดของโควิด-19 OSP เตรียมแผนพร้อมรองรับไว้แล้ว ทำให้ไม่กระทบต่อโรงงานผลิตการจัดหาวัตถุดิบและการขนส่งสินค้า ยกเว้นโรงงานในเมียนมา จากเดิมคาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 1/63 ต้องเลื่อนเป็นไตรมาส 2/63 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กระทบกับเป้าหมายยอดขาย เนื่องจาก OSP มีการจ้างผลิต ขณะที่ยอดขาย C-Vitt ปีนี้คาดจะเติบโตสูงหลังจากเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว 20% ตั้งแต่ไตรมาส 2/62 และปัจจุบันได้เดินหน้าเต็มกำลังการผลิต และในครึ่งปีหลังยังมีแผนขยายกำลังการผลิตกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มอีก 10-15% ตามเป้าหมายเดิม

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯเฝ้าติดตามความเสี่ยง เช่น การแข่งขันสูง ,ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ,การเพิ่มภาษีเครื่องดื่ม ,เงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ ,และการขยายไปต่างประเทศไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น

"แม้มีการระบาดของโควิด-19 แต่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยังเติบโตเกือบ 3% โดยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนกลับมาซื้อเครื่องดื่มชูกำลังที่เป็นแบรนด์หลักคือ M-150 ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่แบรนด์รอง เช่น โสมอินซัม และ ฉลามกระชายดำ มียอดขายทรงตัว กระแสการรักษาสุขภาพทำให้ตลาดเครื่องดื่ม Functional drink เติบโตเกือบ 20% ในช่วง 2 เดือนแรก โดย C-Vitt มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ 29.8% ซึ่งจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย อย่างไรก็ดี ยอดขายสินค้ากลุ่มของใช้ส่วนบุคคลคาดว่าชะลอตัวลงจากผลกระทบของโควิด-19"บทวิจัยฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ