ทริสเรทติ้งคงอันดับเดรดิตองค์กร TISCO ที่ระดับ A- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2020 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มทิสโก้ซึ่งมีบริษัทลูกรายสำคัญหลายแห่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ เช่น ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจธนาคาร รวมทั้งบริษัทลูกรายอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงเงินกองทุนและรายได้ที่เข้มแข็งของบริษัทเมื่อพิจารณาในระดับงบการเงินรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทต้องพึ่งพาเงินปันผลจากบริษัทลูกรายสำคัญเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารทิสโก้ ซึ่งสะท้อนถึงการมีความด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างและข้อจำกัดในการจ่ายเงินปันผลจากกฎระเบียบที่ธนาคารต้องปฎิบัติตาม ซึ่งทำให้อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้อยู่ 1 ขั้น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แหล่งที่มาของรายได้มีความหลากหลาย

สถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนการมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายของบริษัทลูกที่สำคัญในกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจธนาคารซึ่งดำเนินงานโดยธนาคารทิสโก้ ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด และธุรกิจบริหารกองทุนซึ่งดำเนินงานโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้สามารถสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรวมทั้งกำไรจากการดำเนินงานที่ดีให้แก่บริษัท สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากงบการเงินรวมของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 32% ในปี 2562 โดยเป็นรายได้จากธุรกิจธนาคาร 56% ของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวมก่อนรายการปรับปรุงและตัดรายการระหว่างกัน รวมทั้งจากธุรกิจบริหารกองทุน 21% และธุรกิจหลักทรัพย์ 11% ส่วนรายได้การดำเนินงานก่อนหักภาษีและก่อนรายการปรับปรุงและตัดรายการระหว่างกันนั้นมีสัดส่วนหลักมาจากธุรกิจธนาคาร 50% และธุรกิจบริหารกองทุน 7% ในปี 2562

ธุรกิจธนาคารเป็นส่วนสำคัญต่อผลประกอบการของกลุ่มทิสโก้

ผลประกอบการทางการเงินของกลุ่มทิสโก้มาจากผลการดำเนินงานของธนาคารทิสโก้เป็นสำคัญ โดยสินทรัพย์ของธนาคารทิสโก้มีสัดส่วนคิดเป็น 96% ของงบการเงินรวมของกลุ่มทิสโก้ในปี 2562 ทั้งนี้ จุดแข็งของธนาคารทิสโก้อยู่ที่ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งระบุว่าธนาคารทิสโก้มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 7.8% ในปี 2561 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 4 ในกลุ่มผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยจำนวน 18 ราย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในการดำเนินธุรกิจของธนาคารทิสโก้ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับกลางเมื่อเทียบกับธนาคารพานิชย์รายอื่น ๆ ในประเทศไทย

ในด้านธุรกิจหลักทรัพย์นั้น บล. ทิสโก้มีรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 14% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 178 ล้านบาท จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงในปี 2562 นอกจากนี้ บล. ทิสโก้ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงเหลือ 2.1% จาก 2.5% ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ฐานลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้มีสัดส่วนเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศจำนวน 40% เป็นนักลงทุนต่างประเทศ 26% และเป็นนักลงทุนรายย่อยอีก 34%

ในด้านธุรกิจบริหารกองทุนนั้น บลจ. ทิสโก้มีสินทรัพย์ในการบริหารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ16.5% หรือคิดเป็น 2.9 แสนล้านบาทในปี 2562 โดย บลจ. ทิสโก้มีรายได้จากการบริหารกองทุนเพิ่มขึ้น 15.7% หรือคิดเป็น 1.76 พันล้านบาทอันเกิดจากผลของการเปลี่ยนมาใช้มาตราฐานการบัญชีฉบับใหม่ที่ว่าด้วย "มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15" (TFRS 15) โดยสินทรัพย์ในการบริหารของบริษัทนั้นมีสัดส่วนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 63% กองทุนส่วนบุคคล 20% และกองทุนรวมอีก 17% ณ สิ้นปี 2562

มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจากการมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของกลุ่มทิสโก้อยู่ที่ระดับ 16.4% ในปี 2562 ซึ่งมาจากสถานะเงินกองทุนของธนาคารทิสโก้ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 17.4% โดยทริสเรทติ้งมีประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารทิสโก้อยู่ที่ระดับ 17%-18% ในระหว่างปี 2563-2565 โดยที่อัตราส่วนดังกล่าวของกลุ่มทิสโก้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ระดับ 17%-18% เช่นกัน ในการนี้ ทริสเรทติ้งได้รวมสมมติฐานสินทรัพย์ปรับความเสี่ยงของบริษัทในกลุ่มทิสโก้ไว้ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของทริสเรทติ้งมีสมมติฐานมาจากการหดตัวของสินเชื่อรวมของธนาคารทิสโก้ในปี 2563 ซึ่งจะกลับมาเติบโตที่ประมาณ 2% หลังจากนั้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าธนาคารทิสโก้จะจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทที่ระดับประมาณ 65%-75% ของกำไรสุทธิและบริษัทก็จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในระดับเท่า ๆ กันด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารทิสโก้มีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 73.2% และบริษัทมีอัตราอยู่ที่ 79.6%

หนี้สินอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัท

แหล่งเงินทุนตามงบการเงินรวมของกลุ่มทิสโก้นั้นมาจากธนาคารทิสโก้เป็นหลักซึ่งประกอบไปด้วยเงินฝากจำนวน 2.16 แสนล้านบาท รายการหนี้สินระหว่างธนาคารและตลาดการเงินจำนวน 4.6 พันล้านบาท รวมทั้งตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมอีกจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ งบการเงินเฉพาะของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 ประกอบไปด้วยตราสารหนี้ระยะสั้นคงค้างจำนวน 6.3 พันล้านบาท โดยปัจจุบันตราสารหนี้ระยะสั้นคงค้างของบริษัทลดลงเหลือ 370 ล้านบาทและจะครบกำหนดทั้งจำนวนในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2563 นี้

สภาพคล่องเพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับ 12 เดือนข้างหน้า เมื่อพิจารณาตามงบการเงินรวม บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 18.7% ณ สิ้นปี 2562 ลดลงจาก 21.2% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคารและตลาดการเงินจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนสุทธิจำนวน 9.4 พันล้านบาท เมื่อพิจารณาในส่วนของงบการเงินเฉพาะแล้ว บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้สินระยะสั้นได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปในระหว่างปี 2563-2565 เป็นดังนี้

อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะหดตัวในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หลังจากนั้น

ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.0%-1.3%

อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 3.4%-3.6%

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับ 17%-18%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ตลอดจนรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งมีรายได้และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งต่อไปได้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่บริษัทลูกสำคัญรายอื่น ๆ ในกลุ่มทิสโก้จะยังคงสามารถสร้างรายได้ที่แข็งแรงให้แก่บริษัทต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทลูกรายสำคัญที่ดำเนินธุรกิจธนาคารของกลุ่มทิสโก้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้จึงมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกลุ่มที่มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารทิสโก้และบริษัทอ่อนแอลง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ