"Weekly Highlight" (27-30 เม.ย.) เตือน "Sell in May and Go Away" กำลังมา...เกาะติดปลดล็อค พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ??

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 27, 2020 09:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (27-30 เม.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 เมษายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (20-24 เม.ย.) SET INDEX ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6% จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนี SET 100 เพิ่มขึ้น 1.1% สำหรับกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มเกษตร เพิ่มขึ้น 8.2% กลุ่มมีเดีย เพิ่มขึ้น 5.9% และกลุ่มท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 4.7%

ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ลดลง 3.7% หลังจากได้นำร่องประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกไปแล้ว พบว่าทั้ง 10 ธนาคารที่เป็นบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 44,116 ล้านบาท ลดลง 18.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เกาะติดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะมีกระแสข่าวการพัฒนาวัคซีน แต่ล่าสุดพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 แสนรายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบ 90% อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในโซนประเทศยุโรป

สำหรับข้อมูลการแพร่ระบาดในไทย ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์วานนี้ (26 เม.ย.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 15 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,922 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายแล้วมีจำนวน 2,594 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น คงยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 51 ราย

ปัจจุบันแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยไม่ได้เร่งตัวเหมือนกับหลายสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้รัฐบาลส่งสัญญาณตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ Lockdown บางส่วน พร้อมเกาะติดอังคารที่ 28 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจต่ออายุการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้หรือไม่

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ยังคงเกาะติดกับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังจากปรับตัวลดลงแรงอีกครั้งตอบรับกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักไปที่การประชุม "OPEC Plus" รอบพิเศษที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค. อาจตัดสินใจลดกำลังการผลิตเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญนำไปสู่การกำหนดราคาน้ำมันโลกในระยะถัดไป

ภายใต้ภาวะเศษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางหลายประเทศ ส่งสัญญาณอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เริ่มต้นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 27-28 เม.ย. มีวาระพิจารณาขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เช่น ขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยไม่ระบุวงเงินจากเป้าเดิมที่กำหนดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล 80 ล้านล้านเยนต่อปี และขยายเป้าหมายการซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนอีก 2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านธนาคารกลางยุโรป ( ECB) ยังต้องติดตามว่าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมประชุมในวันที่ 28-29 เม.ย.แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะยังตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิม

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ประเมินบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย.จะยังเคลื่อนไหวผันผวน เพราะนักลงทุนเตรียมปรับ position ก่อนเข้าสู่เดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทยมักเจอกับแรงขาย ประกอบกับเป็นช่วงนักวิเคราะห์ทยอยปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน และสภาพคล่องระยะสั้นเป็นลักษณะหดตัวมากกว่าภาวะปกติ ซึ่งนักลงทุนนิยามช่วงนี้ว่า "Sell in May and go away" เบื้องต้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวในเดือน พ.ค. มีแนวต้าน 1,300-1,320 จุด และแนวรับ 1,153-1,120 จุด

"ย้อนหลังไป 10 ปีสถิติของ Sell in May ตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค.ติดลบเฉลี่ย 0.50-3.00% เป็นการติดลบถึง 7 ปีในรอบ 10 ปี แม้ว่าค่าเฉลี่ยจะลดลงไม่มาก เพราะปี 2019 ตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ขึ้นถึง 4% ดังนั้นหากตัดค่าเฉลี่ยของปี 2019 ออกไป ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเฉลี่ยถึง 2% และมักเป็นเดือนต่างชาติขายหุ้นไทยมากที่สุด"นายกรภัทร กล่าว

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (27-30 เม.ย.) ที่ 32.30-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ วันที่ 30 เม.ย.รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน มี.ค.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

https://youtu.be/GUVCBOamyAU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ