CRG วางมาตรการพร้อมกลับมาเปิดให้บริการร้านอาหาร เผชิญความท้าทาย New Normal หลังรับผลกระทบโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 27, 2020 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยในรายการ CEO Talk พลิกวิกฤต ในประเด็น "The Day During and after Covid-19 in Restaurant Business" ว่า บริษัทวางแผนงานที่จะต้องปฏิบัติภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหากมีการคลายล็อคร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า

บริษัทยังคงเน้นย้ำในเรื่องของความสะอาดด้านมสุขอนามัยและความปลอดภัยในร้านอาหาร การเก็บเงินและสั่งรายการอาหารผ่าน QR Code, การทำรายการอาหารให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ และปรับเมนูให้เหมาะสมกับการซื้อกลับบ้านให้มากขึ้น, มุ่งเน้นบริการดิลิเวอรี่มากขึ้น , ทำอาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้นรองรับเทรนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, การปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจร้านอาหาร ทั้งออนไลน์ cashless เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากกลับมาเปิดให้บริการ สิ่งที่จะเห็นได้ชัด คือการรีเซตร้านอาหาร โดยจะเน้นไปที่บริการดิลิเวอรี่มากขึ้น คาดว่าการเติบโตจากนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% จากก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 12% และครัวกลางออนไลน์ (Cloud Kitchen) หรือการเปิดร้านแบบไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน และนำแบรนด์ต่างๆ เข้ามาอยู่รวมกัน ซึ่งจะเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็ม แทนการเข้ามารับประทานในร้านอาหาร รวมถึงให้ความสำคัญกับ Social distancing กำหนดจำนวนคนนั่งทานเข้าร้าน, ระบุชื่อแม่ครัวที่ปรุงอาหาร และอุณหภูมิ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ, การทำดิจิทัลเมนู QR MANU ซึ่งจะทยอยดำเนินการไปให้ครบทุกสาขา

"การปรับตัวของ CRG ก็มีการดูในเรื่องของดิลิเวอรี่ กระแสเงินสด เพื่อให้เพียงพอต่อการจ้างพนักงาน และการลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีนี้ ขณะเดียวกันก็หันมาใช้โปรดักส์ท้องถิ่น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อพึ่งพากันในประเทศมากขึ้น ลดจำนวนเมนูลง ให้เหมาะกับภาวะตอนนี้ และมองหาพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจดิลิเวอรี่ หรือตั้ง Cloud Kitchen ให้ใกล้กับที่ขนส่ง เพื่อลดต้นทุนธุรกิจร้านอาหาร" นายณัฐ กล่าว

นายณัฐ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งมาตรการรับมือในช่วงนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ความสะอาด, New Business Model หรือทำอย่างไรให้อาหารส่งถึงผู้บริโภคได้ ในช่วงที่ร้านอาหารถูกปิดชั่วคราว และการดูแลพนักงาน คู้ค้า รวมถึงสังคม ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ได้ดำเนินการในช่วงเร่งด่วนนี้

ทั้งนี้ เรื่องของความสะอาด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจอาหาร โดยบริษัทมีทั้งร้านอาหารไทย, อาหารญี่ปุ่น, QSR และ นอาหารตะวันตก (western cuisine) หรือ KFC เน้นเรื่องของเจลทำความสะอาดให้กับลูกค้าและแม่ครัว ฉีดแอลกอฮอลล์อุปกรณ์ โดยเฉพาะ KFC เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ด้านการขายผ่านช่องทางใหม่ทดแทนช่องทางรับประทานที่ร้าน (Dine in) ในช่วงนี้ บริษัทปรับมาทำดิลิเวอรี่ และบางสาขาก็มีเมนูใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงนี้ อย่าง เมนูเฉพาะบุคคล และเมนูเซ็ต เป็นต้น รวมถึงการปรับให้พนักงานหน้าร้านมาเป็นคนส่งอาหาร เพื่อช่วยให้พนักงานมีงานทำด้วย

ส่วนการดูแลพนักงาน ซึ่งปัจจุบัน เซ็นทรัล กรุ๊ป มีจำนวนพนักงานรวมกว่า 10,000 คน บริษัทได้ทำประกันภัยโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคน และดูแลพนักงานทั้งหมดให้มีรายได้ตามความสมควร ส่วนของพนักงานออฟฟิศ บริษัทให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน สอดรับกับมาตรการภาครัฐ ขณะที่ในส่วนของซัพลายเออร์หรือคู่ค้า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีการซื้อสินค้า วัตถุดิบจากคู้ค้าตามเดิม เพื่อให้กลไกของธุรกิจเดินไปได้

ปัจจุบันบริษัทมีร้านอาหารมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศไทย ภายใต้แบรนด์รวม 15 แบรนด์ เช่น KFC, Mister Donut, Auntie Anne's, ร้านอาหารญี่ปุ่น อย่าง โอโตยะ , คัตสึยะ, Papper Lunch, SALAD FACTORY, ชาบูตง ราเมน, ไทยเทอเรส, Yoshinoya, Suki House เป็นต้น และยังมีช่องทางการขายผ่านดิลิเวอรี่ หรือแอพพลิเคชั่น ภายใต้ชื่อ FOODHUNT

นายณัฐ กล่าวว่า สำหรับ New Nomal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มองว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้เกิด Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเร็วขึ้นจากเดิม โดยแบ่งออกเป็น 7 เรื่อง ได้แก่ Remote Working หรือการทำงานที่ไหนก็ได้ ซึ่งอาจจะกระทบกับธุรกิจพื้นที่เช่า จากคนทำงานในออฟฟิศน้อยลง, Online Streeming หลังจากนี้คนจะดูหนังบนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งธุรกิจจะต้องคิดแล้วว่าการทำการตลาดกับคนเหล่านี้จะทำอย่างไรกับช่องทางดังกล่าว,

Virtual Education การเรียนผ่านออนไลน์, Machinery การนำโรบอทเข้ามาทำงานในโรงงานมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตก็ต้องมีการปรับตัว, E-Commerce การช้อปปิ้งออนไลน์จะเพิ่มขึ้น, การปรับตัวของร้านอาหารที่อยู่ห้างสรรพสินค้า เช่น ในอดีตมีที่นั่งในร้านอาหารจำนวน 80 ที่นั่ง แต่หลังนี้จะลดลงเหลือ 40 ที่นั่ง รวมถึงช่องทางการขายในรูปแบบดิลิเวอรี่จะมีมากขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องหาพื้นที่ขายที่เป็น Stand Alone Shop มากขึ้น ทั้งใน Shopping Mall และ Non Mall เพื่อปรับตัวสร้างร้านที่เป็นดิลิเวอรี่โยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ Sharing Economy หลังจากนี้จะเป็น Anti Sharing Economy มากขึ้น จาก Social distancing ทำให้คนเริ่มไม่อยากแชร์กันมากขึ้น ซึ่งธุรกิจอย่าง Co working space ก็น่าจะได้รับความน่าสนใจน้อยลง รวมถึงคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ส่วนกลาง เนื่องจากคนอาจใช้พื้นที่ส่วนกลางน้อยลง แต่จะเน้นพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น, โรงแรม อย่าง Airbnb จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความมั่นใจ ปลอดภัยในการเข้าพัก, ร้านอาหาร ที่จะเน้นทานอาหารจานเดียวมากขึ้น ขณะที่ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการร้านอาหารที่จะปรับตัวหลังจากนี้ไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ