ทริส จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 1.8 หมื่นลบ. ของ BJC ที่ "A+" แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 30, 2020 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืม และ/หรือใช้ตามวัตถุประสงค์ทั่วไปของบริษัท

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนการมีธุรกิจและแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลาย การมีตลาดที่ครอบคลุมกว้างขวาง และผลประกอบการที่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัท

ผลการดำเนินงานของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในปี 2562 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม (ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากการขายรวมทั้งรายได้จากค่าเช่าและอื่น ๆ) ประมาณ 1.74 แสนล้านบาท โดยเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 1.2% จากปีก่อน บริษัทมีรายได้จากการขายจำนวน 1.58 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้จากค่าเช่าและบริการและรายได้อื่น ๆ อยู่ที่จำนวนประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาท บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2562 ในระดับที่แข็งแกร่งที่จำนวน 2.12 หมื่นล้านบาท

โดยรายได้และกำไรของบริษัทที่เติบโตขึ้นนั้นมาจากการขยายตัวอย่างดีของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นของธุรกิจสินค้าทางเทคนิคเป็นสำคัญ ส่วน บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ดำเนินงานด้านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) นั้นก็มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4% จากปีก่อนอันเป็นผลมาจากการขยายสาขาใหม่ ในขณะที่ยอดขายจากสาขาเดิม (Same-store Sales) ของบิ๊กซีในปี 2562 ลดลง 2.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว นอกจากนี้ รายได้และกำไรจากธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ยังลดลงจากการมียอดสั่งซื้อกระป๋องอลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่มชูกำลังที่ลดลง

สำหรับปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าการจำกัดการเดินทางและการดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของ บิ๊กซีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาในพื้นที่ท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทกระดาษชำระและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอาจได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าหรืออาจมีผลประกอบการที่ดีในช่วงที่มีการปิดประเทศก็ได้

ทั้งนี้ พฤติกรรมการกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่วงที่เกิดความตื่นกลัววิกฤติไวรัสโควิด-19 ของผู้บริโภคอาจส่งผลดีต่อยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีในระยะสั้น ส่วนรายได้จากค่าเช่านั้น ร้านค้าที่เปิดในพื้นที่เช่าของบิ๊กซีหลายร้านมีการปิดดำเนินการชั่วคราวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยบิ๊กซีในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่เช่ามีความตั้งใจที่จะเจรจากับผู้เช่าเพื่อหาทางออกที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการปิดร้านค้าในพื้นที่เช่าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากค่าเช่าของบิ๊กซีได้ในระดับหนึ่ง

บริษัทยังคงมีภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับสูงพอสมควร โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีหนี้สินสุทธิอยู่ที่ระดับ 1.51 แสนล้านบาท ลดลงจาก 1.54 แสนล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2562 ประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 7.2 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 9.9% ในปี 2562 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารสภาพคล่องให้มีเพียงพอในช่วงระยะปานกลาง

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ โดยบริษัทยังคงมีภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลายาวนานมาตั้งแต่การซื้อกิจการของบิ๊กซีในปี 2559

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทไม่สามารถลดภาระหนี้สินลงได้โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 5 เท่าภายในปี 2563 นอกจากนี้ สถานะทางการตลาดในสายธุรกิจหลักของบริษัทที่อ่อนแอลงซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรลดลงนั้นก็จะมีผลต่อการลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน การลงทุนหรือการซื้อกิจการที่ใช้เงินกู้ยืมจำนวนมากก็จะเป็นปัจจัยลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการเปลี่ยนมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงและทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ